บำบัดป่วยด้วยหนังสือ

บำบัดป่วยด้วยหนังสือ


นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 214

บำบัดป่วยด้วยหนังสือ

นับตั้งแต่ส่งลูกชายเข้าเรียนในชั้นอนุบาลจนถึง ป.2 ผลการเรียนของลูกอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเพื่อนๆมาตลอด และดูเหมือนว่าลูกจะไม่ยอมรับรู้ใดๆ คุณแม่จึงย้ายโรงเรียนใหม่ให้ลูกเพราะคิดว่าวิธีการสอนของครูคนใหม่จะทำให้ลูกเข้าใจบทเรียนมากขึ้น แต่จนแล้วจนรอดลูกก็ยังอ่านหนังสือไม่คล่อง แถมมีพฤติกรรมก้าวร้าว และเก็บกดในบางครั้ง

หลังจากพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นเวลานานพอสมควร คุณแม่จึงทราบว่า ลูกชายมีอาการ LD ( Leaning disorder) แต่เป็น LD ประเภท ภาวะการอ่านบกพร่อง(Dyslexia) หรือ บอดศัพท์ (word blindness)
ทฤษฏีสมรรถภาพสมอง

สมองเป็นส่วนสำคัญต่อการอ่าน และสมองต้องทำงานประสานกันหลายส่วนจึงทำให้เกิดการอ่านและแปลความหมายได้ ซึ่งสรุปเป็นการกระบวนการได้ 2 ส่วน คือ

  1. กระบวนการทางกายภาพ ได้แก่ วิธีการใช้สายตาและการใช้มือประกอบกันเพื่อให้เกิดการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. กระบวนการทางสมองและระบบประสาทภายในร่างกายของคนเรา เพื่อส่งต่อในสิ่งที่ได้รับรู้เข้าไปบันทึกเก็บไว้ในเซลล์สมองให้มากที่สุด
จึงพอสรุปโครงสร้างของสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอ่านได้ดังนี้

สมองแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง โดยเริ่มต้น
  • สมองส่วนหน้า (forebrain) ซึ่งประกอบด้วยสมองหลายส่วน เช่น ซีรีบรัม ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น เช่น ตัวหนังสือ วัตถุ สีขนาด มีนิวโรนเฉพาะสำหรับรับแสงที่ตกลงบนจอภาพของตา (retina) ในแต่ละมุม นอกจากนี้สมองส่วนนี้ยังทำหน้าที่รับรู้ (perception) อย่างซับซ้อน ที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เข้าใจความหมายของภาษาที่ได้ยินหรือที่ใช้พูดกัน รวมถึงการเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆที่เราได้อ่านและลูบคลำ
  • สมองส่วนกลาง (midbrain) เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง นอกจากนี้ บางส่วนของสมองจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับประสาทตาและประสาทหูด้วย
  • สมองส่วนหลัง (hindbrain) มีใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเป็นระบบ
หากสมองทำงานผิดปกติเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งจะเกิดผลเสียคือ

"จะทำให้กระบวนการอ่านของเด็กเสียทั้งหมด เช่น บางคนบกพร่องเรื่องการรับภาพ เห็นตัวอักษรในลักษณะที่บิดเบือนไป ยกตัวอย่างเช่น เห็นตัวงองูกลับด้าน เหมือนเวลาเราดูภาพจากกระจกเงา หรือ สมองด้านภาษาบกพร่อง เขาจะไม่สามารถ แปลงสัญลักษณ์หรือภาพที่เขาเห็นเชื่อมโยงกับเสียงได้ เช่น เห็นตัว มอม้าแต่ไม่สามารถออกเสียงได้ เปรียบเทียบกับคนไทยที่ไปเมืองจีนแล้วเห็นอักษรจีน เราก็ไม่รู้ว่าจะออกเสียงอย่างไร เด็กกลุ่มนี้จะถูกครูและพ่อแม่เข้าใจผิดว่าขี้เกียจ ให้อ่านหนังสือก็ไม่อ่าน แต่จริงๆ เขาอ่านไม่ได้ ซึ่งพอโตขึ้น เด็กจะเริ่มเบื่อหน่ายการเรียน จะถอดใจว่าเพราะรู้สึกว่าการเรียนยาก ยิ่งเด็กโดนดุ ถูกคาดโทษจากพ่อแม่หรือคุณครู เด็กจะมีความกังวล และมองตัวเองไม่มีคุณค่า ในที่สุด เด็กผู้หญิงจะมีอาการซึมเศร้า ส่วนเด็กผู้ชายจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง"

คุณหมอแนะนำว่าผู้ปกครองควรมีเวลาให้เด็กมากขึ้น และฝึกให้เด็กอ่านตัวอักษรที่อ่านไม่ออก โดยการทำตัวอักษรเป็นตัวนูนแล้วใช้มือสัมผัสไปด้วยขณะอ่าน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ และเพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วๆไป
การอ่านช่วยกระตุ้นสมอง

"อ่านหนังสือให้ลูกฟังจึงช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาพูด และภาษาอ่านได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ เนื้อหาในเรื่องที่เล่านั้น เป็นความดี ความจริง ความรู้ ซึ่งจะส่งผ่านเข้ามาถึงตัวเด็กได้ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น ความผูกพันของแม่และลูก ขณะที่ลูกนั่งอยู่บนตักแม่ แม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง การกอดรัดสัมผัสของแม่ที่มีต่อลูกส่งผลให้เกิดการหลั่งของ โกร้ธฮอร์โมน และ เนิร์บโกร้ธ แฟคเตอร์ ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองมนุษย์มากทีเดียว นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกได้รับประโยชน์จากการอ่านที่แม้ไม่ได้ทำให้ลูกแข็งแรงโดยตรงแต่ทำให้ลูกมีสมองและจิตใจที่แข็งแรง มีความสุข"

…เมื่อเด็กเริ่มหัดอ่าน แนวความสนใจจะเป็นไปตามรายบุคคล ทั้งปริมาณที่อ่านได้และประเภทของหนังสือที่อ่าน ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างระหว่างบุคคลในการอ่านด้วย ซึ่งแนวความสนใจพอจะสรุปได้ดังนี้
  • ก่อนอายุ 5 ปี เด็กชอบเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เรื่อง สัตว์ ธรรมชาติ โคลงกลอน และนิทานภาพประกอบ เด็กอายุ 3-5 ปี ชอบให้ผู้ใหญ่อ่านการ์ตูนให้ฟัง
  • อายุ 6 ปีขึ้นไป เด็กเริ่มอ่านหนังสือตามที่ตนต้องการและเป็นดังนี้เรื่อยไปจนถึงชั้นประถมศึกษาตอนต้น เด็กจะชอบเรื่องลึกลับ เรื่องคาดไม่ถึง เด็กชายชอบเรื่องสัตว์ เด็กหญิงชอบเรื่องเกี่ยวกับเด็กและประสบการณ์ของตน
  • อายุ9-11 ปี เด็กชอบเรื่องการผจญภัย เรื่องชีวิตของสัตว์ ชอบเรื่องความมีน้ำใจนักกีฬา ความกล้าหาญ ประดิษฐ์กรรมต่างๆ
  • อายุ 12-13 ปี เพิ่มความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ บุคคล ธรรมชาติ เด็กหญิงจะชอบนิยาย
  • อายุ 14 ปี ระยะนี้เข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว ความสนใจจะเพ่งไปในแนวใดแนวหนึ่ง ระยะนี้อาจอ่านหนังสือน้อยลง แต่จะชอบอ่านนิตยสารมากขึ้น เด็กหญิงชอบหนังสือสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้น ชอบเรื่องรักใคร่สะเทือนอารมณ์ (ระยะนี้ควรให้คำแนะนำในการอ่านมากที่สุด)
  • อายุ 15 ปี ตอนนี้ความทุ่มเทในการอ่านผ่านไปแล้ว แต่ละคนเริ่มอ่านหนังสือตามแนวต้องการของโรงเรียนและสังคม เด็กชายมักชอบการทดลอง วิทยาศาสตร์ เด็กหญิงมักชอบนิยาย
  • อายุ16-17 ปี ความสนใจในการอ่านค่อยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จะมีความสนใจ ความต้องการรสนิยมส่วนตัว สนใจเรื่องของโลกและปัญหาสังคมต่างๆ
หนังสือโอสถเยียวยาใจ
"การอ่านหนังสือจะทำให้ผู้อ่านพบว่า ความไม่แน่ใจของตน ความทุกข์โศก และความผิดหวัง มิได้เกิดขึ้นกับตนเองแต่เพียงผู้เดียว บุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดต่างก็มีประสบการณ์เช่นเดียวตน เขาจะรู้สึกโล่งอกเมื่อปัญหาที่ทำให้ตนเองต้องแยกตัวออกจากสังคมสู่โลกเปล่าเปลี่ยวแห่งความผิดหวัง ความข้องคับใจ ความทุกข์โศกหรือความสงสัย ถูกขจัดให้หมดไป ภายหลังจากการอ่านหนังสือ"

ความมหัศจรรย์จากการอ่านนั้นไม่เพียงเกิดเฉพาะกับเด็ก และวัยทำงานที่ต้องการทั้งหาความรู้ ผ่อนคลายจิตใจ ตลอดจนสร้างกำลังใจให้ตัวเองเท่านั้น สำหรับผู้สูงอายุ หนังสือก็เป็นยาอีกขนานหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานด้วยความกระชุ่มกระชวยได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์

"อย่างที่รู้กันว่า สมองสามารถงอกใหม่ได้ การอ่านหนังสือก็ช่วยทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมนั้น สิ่งที่คนไข้ต้องทำคือ การอ่าน เพราะทำให้เกิดความจำ และสมองได้ทำงาน เมื่อใดสมองได้ทำงาน กลไกต่างๆในสมองจะทำงานดีขึ้น ผู้ที่ยังไม่ป่วยก็จะช่วยป้องกันได้ ส่วนผู้ป่วยการอ่านจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนหนังสือที่ใช้สำหรับอ่านไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นหนังสืออะไร ขอเพียงแต่เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาไม่เลวร้าย เป็นหนังสือที่เราชอบและมีคุณค่าก็พอ"

"ดังนั้นยิ่งอ่านมาก เซลล์สมองได้ทำงานมาก เปรียบเทียบกับกล้ามเนื้อยิ่งใช้งานมาก ยิ่งแข็งแรง แต่ถ้าไม่ใช้งาน ไม่อ่านไม่คิดตาม มันจะฝ่อ แต่ถ้าใช้บ่อยๆ ก็จะแข็งแรง และจะมีบางส่วนที่งอกออกมา เกิดวงจรใหม่ๆ ขึ้นมา"

ความมหัศจรรย์ของหนังสือยังไม่หมดเพียงเท่านั้น หนังสือยังเป็นยาแก้ไข้ บรรเทาปวดให้กับเด็กป่วยเรื้อรังได้อีกด้วย

"จากประสบการณ์ที่สอนเด็กป่วยในโรงพยาบาลจุฬา เพื่อให้เด็กเรียนทันเพื่อนในชั้นเรียน เด็กๆ ที่ป่วยเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจ และโรคเลือด เด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถลุกออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้มากนัก เพราะสภาพร่างกายไม่แข็งแรง เขาจะนอนอยู่บนเตียง ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเบื่อ และบางทีทำให้มีอาการเครียด กิจกรรมที่เรามักให้ทำคือ การอ่านหนังสือ ซึ่งช่วยคลายความเครียดความวิตกกังวลได้ แต่หนังสือที่ให้เขาอ่านต้องเป็นหนังสือที่เขาสนใจ เด็กบางคนชอบการ์ตูน เขาจะอ่านจนเพลินลืมนอน จนเราต้องบอกให้นอนพัก แต่เด็กบางคนชอบการทดลอง ชอบวิทยาศาสตร์ เราก็จะจัดหนังสือกลุ่มนี้ให้ เขาจะซักถามว่า ทำไมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องการให้ครูช่วยอธิบาย"

"แต่ที่เห็นค่อนข้างชัดเจนคือ เด็กบางคนที่เริ่มบ่นว่าปวดหัว มึนหัว เราก็จะหาหนังสือให้อ่าน ซึ่งเมื่อได้อ่านหนังสือที่ชอบเขาก็ลืมอาการป่วย ถามอีกที ก็บอกครูว่า ผมหายแล้ว หนูหายแล้ว ซึ่งหนังสือช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้จิตใจผ่อนคลาย บางทีทำให้อาการป่วยทางร่างกายทุเลาได้ แต่ในบางกรณีที่ปวดมากๆ หนังสือก็ไม่สามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจได้เหมือนกัน"

"และที่สำคัญมากคือ ต้องรู้ว่าเด็กชอบและสนใจหนังสืออะไร"


ขอบคุณข้อมูลจากชีวจิตดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์