6 โรคภัยหนาว
ฤดูหนาวที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาว 6 โรครวมกันทั่วประเทศ 515,580 ราย
เสียชีวิต 315 ราย มากที่สุดคือ
อุจจาระร่วง ป่วย 442,187 ราย เสียชีวิต 31 ราย
รองลงมาคือ ปอดบวม ป่วย 43,109 ราย เสียชีวิต 280 ราย
โรคสุกใส ป่วย 22,745 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ไข้หวัดใหญ่ ป่วย 6,754 ราย เสียชีวิต 2 ราย
โรคหัด ป่วย 1,645 ราย และหัดเยอรมัน ป่วย 128 ราย ไม่มีเสียชีวิต
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้จากการไอจาม
โดยเชื้อโรคจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และอาจติดจากการใช้ภาชนะ และสิ่งของร่วมกัน เช่นแก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อเริ่มมีอาการควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ควรไปพบแพทย์
โรคหัด มักเกิดในเด็กอายุ 1-6 ปี ระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง หลังมีไข้ประมาณ 4 วัน จะมีผื่นขึ้น ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายทั่วตัว
โรคหัดเยอรมัน เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก มีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น หากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้
ส่วนโรคสุกใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ด และหลุดออกเองประมาณ 5-20 วัน
โรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป หรืออาจติดต่อทางน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยได้ หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้อาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่
FW