จากการสำรวจพฤติกรรม ผู้บริโภคไทย โดยผลิตภัณฑ์อาหารโวโน ซุปครีมกึ่งสำเร็จรูป เมื่อต้นปี 2551 พบว่า สาวส่วนใหญ่มักโทษว่า อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการเผาผลาญพลังงานลดลง
บางคนบอกว่างานยุ่งมากจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย และมีหญิงสาวจำนวนมากไม่ยอมกินอาหารเช้า จึงไปหิวจนตาลายเอาเมื่อสาย และมักคว้าขนม ของขบเคี้ยวกรุบกรอบกิน พอตกบ่ายก็เริ่มง่วงและหิวอีกรอบ ก็ต้องพึ่งขนมช่วยให้ตาสว่างกันอีกยก ยิ่งอยู่ด้วยกันหลายคนก็ยิ่งสนุก ยิ่งอร่อย กว่าจะรู้ตัวอีกทีถุงขนมก็กองเต็มโต๊ะ และส่วนเกินก็มากองอยู่ตามพุงเสียแล้ว
อาจารย์กฤษฎี โพธิทัต ที่ปรึกษาด้านโภชนาการ กล่าวว่า ที่จริงแล้วอาหารว่างหรือของขบเคี้ยวระหว่างมื้อเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ ถ้ารู้จักเลือกกินชนิดที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางสารอาหาร
เช่น ผลไม้ที่แป้งน้อย อย่าง สับปะรด ชมพู่ ฝรั่ง แซนด์วิชที่ทำจากขนมปังโฮลสวีต นมหรือนมถั่วเหลืองยูเอชที โยเกิร์ตรสธรรมชาติ โดยคุณสามารถทานร่วมกับผลไม้ หรือโรยซีเรียลลงไปด้วยก็ได้ ถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ถั่วเมล็ดแห้งต้ม เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ซุปครีมในปริมาณที่อิ่มกำลังเหมาะ ที่มีขนมปังกรอบ เพื่อให้ได้รสชาติของการเคี้ยว ผักสด ผักต้มสุก จิ้มกับน้ำสลัดหรือเครื่องจิ้มอื่นๆ
แนะกินอาหารว่างให้มีประโยชน์
"การวิจัยพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารวันละ 4 มื้อเล็กๆ ขึ้นไป คือ อาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 1 มื้อ มีโอกาสลดความอ้วนได้ ถึงร้อยละ 45 เพราะการกินอาหารระหว่างมื้อที่มี คุณภาพ จะช่วยทำให้เราไม่หิวมากเกินไป จึงควบคุมปริมาณการกินอาหารในมื้อถัดไปได้ดีขึ้น ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า พร้อมเริ่มต้นใหม่ได้อย่างสดใส"
คำอธิบายก็คือ คนเราจะรู้สึกหิว เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงถึงระดับหนึ่ง
สมองจึงจะสั่งการว่าหิว ซึ่งโดยธรรมชาติ เราก็จะคว้าของกินใส่ปากเมื่อหิว และหยุดกินเมื่อรู้สึกว่าอิ่ม แต่ระบบการทำงานของร่างกายนั้น สมองจะรับรู้ได้ช้ากว่าที่เป็นจริง เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่สมองต้องใช้เวลาประมาณ 15 นาทีจึงจะรับรู้ได้ว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาแล้ว ดังนั้น เมื่อสมองบอกว่าอิ่ม และเรารู้สึกอิ่ม จึงเป็นเวลาที่ร่างกายของเราได้รับอาหารเกินความต้องการไปแล้ว
การจะป้องกันคือ ต้องเคี้ยวให้ละเอียด เคี้ยวนานๆ เคี้ยวคำละอย่างน้อย 15 ครั้งก่อนที่จะกลืน หรือพวกชีวจิตแนะนำว่าถ้าเคี้ยวได้ถึง 30 ครั้งจะเยี่ยมมาก เพราะทำให้เราใช้เวลานานขึ้นในการรับประทานอาหารแต่ละคำ และในแต่ละมื้อก็จะทำให้เรากินอาหารได้น้อยลง แต่อิ่มทน