ตั้งแต่สมัยอดีตกาลมา ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเป็นการปกครอง ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารหรืออำนาจตุลาการ และจะเรียกกันง่าย ๆ ว่า เป็นการปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย คือเป็นทั้งผู้ออกกฎหมายบริหารบ้านเมือง และตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง ส่วนพวกขุนนาง ข้าราชการ เป็นเพียงกลไก ที่ปฏิบัติไปตามพระบรมราชโองการเท่านั้น และถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ จะทรงมีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด ในการบริหารปกครองบ้านเมือง แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็มิได้ทรงใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างไม่ชอบธรรม เพราะพระองค์ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทย หลายพระองค์ได้ทรงแสดงออกถึงการสนับสนุนการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย และได้ทรงสืบสานเจตนารมณ์มาตามลำดับ เริ่มตั้งแต่
รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับองค์รัชทายาทว่า พระองค์จะไม่ทรงตั้งผู้ใดไว้ แต่โปรดเกล้าฯ ให้เหล่าบรรดาข้าราชการเสนาบดีตกลงกันว่า สมควรจะตั้งผู้ใดให้สืบราชสมบัติต่อไป น่าจะถือได้ว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริเป็นประชาธิปไตย ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะถูกปกครอง ได้มีโอกาสเลือกผู้ปกครองได้เอง
รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงยอมรับอารยธรรมตะวันตก เพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากับสภาพบ้านเมือง โดยมีพระราชดำริ ที่เป็นประชาธิปไตย ที่ต้องการให้มีความเสมอภาค เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่าง และช่องว่างระหว่างชนชั้น ทรงโปรดฯ ให้ประชาชนเลือกนับถือศาสนาได้ตามใจชอบ และจัดให้ราษฎรมีการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน