การ "ใช้ซ้ำ" (Reuse) เป็นแนวทางหนึ่งในการลดขยะและช่วยลดภาวะโลกร้อนไปด้วยในตัว
จากรายงานหัวข้อ "REUSE ลดขยะปลอดภัย" ในนิตยสาร "ชีวจิต" ฉบับเดือนธ.ค. ศุภรา กันตะพัฒนะ ให้ข้อมูลว่า วิธีการใช้ซ้ำ หรือ Reuse ทำได้เองโดยไม่ต้องผ่านโรงงาน 2 วิธีดังนี้
1.นำกลับมาใช้ซ้ำด้วยวิธีการเดิม เช่น นำภาชนะที่เคยใส่อาหารมาใช้ใส่อาหารอีกครั้ง
2.การนำกลับมาใช้ซ้ำโดยผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่
อะไรใช้ซ้ำได้บ้าง?
อาทิ วัสดุแก้ว กระดาษ กระป๋องเหล็กหรืออะลูมิเนียม กล่อง กระป๋อง ขวด หรือภาชนะทำจากพลาสติก เสื้อผ้า ของเหลือใช้อื่นๆ
ใช้ซ้ำอย่างไรให้ปลอดภัย?
จากข้อมูลสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สรุปวิธีการใช้ซ้ำให้ปลอดภัย ดังนี้
1.บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกชนิดสามารถใช้ซ้ำได้ หากไม่ได้ใช้กับอาหารหรือเครื่องดื่ม
2.บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุที่จะนำมาใช้ซ้ำกับอาหารและเครื่องดื่มจะต้องเป็น Food Grade เท่านั้น และหากต้องการใช้วัสดุที่ทำจากแก้วกับอาหาร ควรผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง
3.นอกจากแก้วแล้ว หากคิดจะใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นกับอาหารและเครื่องดื่ม พึงระวังเรื่องต่อไปนี้
- ภาชนะพลาสติกทุกชนิดที่มีปากกว้าง ทำความสะอาดง่าย สามารถใช้บรรจุอาหารที่อุณหภูมิปกติ หรือแช่เย็นแช่แข็งได้ ไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรใส่อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- ภาชนะประเภทพลาสติกที่มีลักษณะคอแคบ ผิวขรุขระ หรือมีเหลี่ยมมุมมาก หากคิดจะใช้ซ้ำกับอาหารและเครื่องดื่ม ควรมั่นใจว่าได้ทำความสะอาดเป็นอย่างดีจนปลอดเชื้อ
- ภาชนะพลาสติกทุกชนิด ไม่ควรใส่อาหารร้อนหรือผ่านการให้ความร้อน เช่น การนำเข้าไมโครเวฟ แม้ว่าการใช้ครั้งแรกจะระบุว่าใช้กับไมโครเวฟได้ เพราะตั้งใจผลิตมาให้ใช้ครั้งเดียว ภาชนะจึงบาง หากผ่านความร้อนบ่อยครั้งอาจปล่อยสารที่เป็นอันตรายได้
- กระป๋องโลหะที่เคยใส่อาหาร (อาหารกระป๋องต่างๆ) หากจะใช้ซ้ำกับอาหาร ควรแน่ใจว่าภายในไม่มีรอยขูดขีดที่ทำให้สารเคลือบผิวหลุดออกมาและไม่ควรใช้กับความร้อน
- ถุงพลาสติกและกล่องใส่อาหาร รวมถึงฟิล์มยืดปิดอาหารที่ผ่านการใช้แล้ว ไม่ควรนำมาใช้กับอาหารอีกเป็นอันขาด
คำแนะนำนี้ คงจะช่วยให้คุณพ่อบ้านคุณแม่บ้าน นัก Reuse สบายใจมากขึ้น