วิกฤติเด็กไทยไม่อยากมาโรงเรียนพุ่ง
เข้าขั้นวิกฤติเต็มที เด็กไม่อยากมาโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้น ผอ.สถาบันรามจิตติเผย 1.5 แสนคน ชอบมาโรงเรียนแค่ 40% ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมในต่างจังหวัด อ้างโรงเรียนนั้นไม่ปลอดภัย แถมครูสอนน่าเบื่อ ไม่สร้างแรงบันดาลใจการเรียนรู้ ด้าน "อ.สมพงษ์" แนะปรับรูปแบบการเรียน หาเทคนิคการสอนที่เข้ากับวัยเด็ก
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ เผยผลการสำรวจนักเรียนจำนวน 150,000 คน จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศโดยสุ่มตัวอย่างจังหวัดละ 2,000 คน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ ได้ทำการสอบถามเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบมาโรงเรียนของนักเรียน โดยให้เลือก 3 ระดับด้วยกัน คือ ชอบมาโรงเรียนมาก ชอบมาโรงเรียนในระดับปานกลาง และไม่ชอบมาโรงเรียนอย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่ามีนักเรียนที่ชอบมาโรงเรียนมากมีเพียงแค่ร้อยละ 40 เท่านั้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบด้วยว่านักเรียนที่อยู่ในเมือง ไม่ชอบมาโรงเรียนมากกว่านักเรียนที่อยู่นอกเมืองหรือในต่างจังหวัด และนักเรียนระดับประถมชอบไปโรงเรียนมากกว่านักเรียนระดับมัธยม
นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มเด็กส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัยนั้นมีสูงขึ้น เพราะพบเห็นภาพความรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชกต่อยในโรงเรียน แก๊งรีดไถ แถมนิสัยการอ่านหนังสือลดน้อยลงอีกด้วย
"ผลการสำรวจที่ออกมา ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันมาทบทวนตัวเอง ตั้งแต่เรื่องวิธีสอนของครู ที่ให้ความสำคัญกับการทำผลงานมากกว่าใส่ใจการสอนเด็ก รวมถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนด้วย" ผอ.สถาบันรามจิตติกล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ผลงานวิจัยของโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชน Child Watch ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับผลสำรวจของสถาบันรามจิตติ โดยได้ทำการสำรวจนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 9,000 คน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม และ จ.นนทบุรี
"ผลงานวิจัยพบว่าเด็กขาดความสุข ขาดความกระตือรือร้น และขาดแรงบันดาลใจในการมาโรงเรียนโดยเฉพาะในระดับมัธยม ซึ่งได้มีการตั้งสมมติฐานว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กรู้สึกเช่นนั้น เกิดจากเด็กรู้สึกว่าการมาโรงเรียนไม่น่าสนุก น่าเบื่อ ถึงขนาดคอยเช็กชั่วโมงเรียนว่าชั่วโมงไหนครูไม่เข้าสอนบ้าง สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะครูมุ่งแต่จะทำผลงานทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง นอกจากนั้นเนื้อหาของหลักสูตรยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กต้องการจะเรียนรู้ ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาด้วยว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนน่าอยู่ โดยหากิจกรรมเข้ามาเสริมเพิ่มความกระตือรือร้นให้กับเด็ก รวมถึงการหาอุปกรณ์การเรียนการสอนและสื่อการสอนที่สร้างสรรค์ รวมทั้งหาเทคนิควิธีการเรียนที่เข้ากับวัยของเด็กด้วย
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)