ภัยร้ายรายวัน ประจำสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ไปหมาด ๆ จากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นกับสถานบันเทิง และอาคารห้างร้าน คงจะทำให้ท่านผู้อ่านรู้สึกกังวลต่อเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นกับคุณอย่างไม่ทันคาดคิด
เพราะฉะนั้น สัปดาห์นี้ ขอประเดิมเรื่องแรกของปีด้วยการแนะนำ "วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกัน และการอพยพอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดอัคคีภัย"
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะนำวิธีป้องกันอัคคีภัยเบื้องต้น ผู้อาศัยในแต่ละบ้าน ควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ้าน ไม่ควรจุดธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล ปิดสวิตซ์ และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังเลิกใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า ป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้
สำหรับบ้านหรือห้องที่ติดตั้งเหล็กดัดกันขโมยตามประตู หรือหน้าต่าง ควรทำช่องที่สามารถเปิดออกด้วยการไขกุญแจอย่างน้อย 1 บาน และควรเก็บกุญแจไขเปิดไว้ในที่ซึ่งสามารถหยิบใช้ได้ง่าย ส่วนผู้ที่เข้าไปในอาคารที่ไม่คุ้นเคย ควรสังเกตทางหนีไฟที่อยู่ใกล้ที่สุดอย่างน้อย 2 แห่ง พร้อมกับมองหาตำแหน่งของอุปกรณ์ดับเพลิง
ภัยร้ายรายวัน : หนีไฟ
กรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ควรต้องสติ ไม่ตื่นตระหนก และปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้
1. ตะโกนหรือส่งสัญญาณแจ้งเหตุให้ผู้อื่นทราบทันที
2. รีบออกจากอาคารอย่างเป็นระเบียบโดยเร็วที่สุด และไม่ควรกลับเข้าไปในอาคารอีก
3. หากต้องอพยพออกจากห้อง ควรใช้มือสัมผัสบริเวณผนังหรืออังใกล้ ๆ ลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูง แสดงว่าเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้ ๆ ห้ามเปิดประตูโดยเด็ดขาด
4. ควรหนีไฟลงด้านล่างของอาคาร โดยใช้บันไดหนีไฟด้านนอกอาคาร เนื่องจากลักษณะบันไดภายในอาคารเป็นเหมือนช่อง โพรง ที่เสริมให้เปลวไฟพุ่งขึ้น และลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าลงทางบันไดไม่ได้ ให้ลงทางหน้าต่าง โดยใช้เชือก หรือผ้ายาวผูกตัวแล้วโหนลงมา ส่วนการกระโดดลงจากอาคาร ควรมีเบาะหรือฟูกที่นอนรองรับ
5. ห้ามใช้ลิฟท์ เพราะขณะเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ลิฟท์ค้าง จะทำให้ด้านในของตัวลิฟท์ไม่มีอากาศ
6. หากเส้นทางหนีไฟเต็มไปด้วยกลุ่มควันให้ใช้ผ้าชุบน้ำมาคลุมตัว และปิดจมูก ป้องกันการสำลักควัน แล้วหมอบคลานเนื่องจากอากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านล่าง (เหนือพื้น)
7. ไม่ควรหนีไฟเข้าไปหลบในห้องต่าง ๆ ที่เป็นจุดอับภายในอาคาร เช่น ห้องน้ำ ที่แม้ในช่วงแรกจะปลอดภัย แต่เมื่อไฟลุกลาม น้ำที่อยู่ในห้องอาจไม่เพียงพอสำหรับดับไฟ และความร้อนของไฟจะส่งผลให้น้ำมีความร้อนสูงขึ้นจนสามารถลวกให้เสียชีวิตได้
8.กรณีติดอยู่ในห้องที่ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ ให้ปิดประตูหน้าต่าง ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องว่างทั้งหมดป้องกันควันลอยเข้าไป และรีบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น โทรศัพท์ โบกผ้า หรือเป่านกหวีด
9. หากถูกไฟไหม้ติดตัว อย่าใช้มือตบไฟ เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น ให้ถอดเสื้อผ้าออกทันที แล้วล้อมตัวลงที่พื้น กลิ้งตัวไปมาเพื่อดับไฟ กรณีที่ไฟไหม้ร่างกายผู้อื่น ให้ใช้ผ้าห่มพันตัวหลาย ๆ ชั้น จนกว่าไฟจะดับ แล้วใช้น้ำราดตัว แล้วห่มด้วยผ้าแห้ง
10.ถ้าจำเป็นต้องวิ่งฝ่าเปลวไฟให้ใช้ผ้าชุบน้ำจนเปียกคลุมตัวก่อนวิ่งฝ่าออกไป
ทั้งนี้ จงอย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการหนีรอดจากเหตุอัคคีภัย คือ การมีสติเป็นอันดับแรก เพราะจะทำให้คุณสามารถหนีเอาตัวรอด และช่วยเหลือผู้ร่วมชะตากรรมให้ออกมาจากบริเวณดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย