เมื่อกาลนานโน้น ไอศกรีม (Ice Cream) หรือ ไอติม กำเนิดในประเทศจีน จากการนำหิมะบนยอดเขาผสมกับนํ้าผลไม้ และกินในขณะที่หิมะยังไม่ทันละลายดี
กระทั่งปลายศตวรรษที่ 13 นักสำรวจโลกคนดัง "มาร์โคโปโล" เดินทางสู่จีน เขาชื่นชอบของหวานเย็นนั้น จึงนำสูตรกลับไปอิตาลี โดยระหว่างเดินทางมีการเติมนมลงไปด้วย กลายเป็นสูตรของเขาโดยเฉพาะ และแพร่หลายไปทั่วอิตาลี ฝรั่งเศส แล้วข้ามไปอังกฤษ
ต่อมา อิตาลีพัฒนาจนเกิดเป็นต้นตำรับไอศกรีมแบบปั่นให้เย็นจนแข็ง เรียกว่าเจลาโต (Gelato)
แล้วแพร่หลายไปในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16 ก่อนไปอเมริกา ในสหรัฐอเมริกา เบื้องแรกไอศกรีมเสิร์ฟอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น กระทั่งหนุ่มชาวบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ เจคอบ ฟัสเซลล์ (Jacob Fussell) ริเริ่มผลิตไอศกรีมเป็นอุตสาหกรรม และจำหน่ายแก่ปวงชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม มีข้อแตกต่างอยู่บ้างระหว่างไอศกรีมเจลาโต้ของอิตาลีกับไอศกรีมสไตล์อเมริกัน เช่น อัตราส่วนขององค์ประกอบ ขั้นตอนการผลิตบางขั้น เป็นต้น ส่งผลต่อกลิ่น รส และเนื้อสัมผัสที่ต่างกัน
สำหรับประเทศไทย ไอศกรีมเข้ามาช่วงใดไม่มีหลักฐานเอกสารแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่าคงมาหลังสมัยรัชกาลที่ 5
ซึ่งมีการผลิตนํ้าแข็งกินเองแล้ว ไอศกรีมยุคนั้นทำจากนํ้าหวานหรือนํ้าผลไม้ปั่นเย็นจนแข็ง แต่ไม่มีนมหรือครีมผสมด้วย เรียกว่า "ไอติม" ใช้แรงคนปั่น โดยมีหม้อทองเหลืองเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-60 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ภายในมีรูคล้ายลังถึงสำหรับเสียบกระบอกโลหะทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร บรรจุนํ้าผลไม้หรือนํ้าหวาน กระบอกนี้คือแม่พิมพ์ที่ทำให้ไอติมเป็นแท่ง
ความหลังไอศกรีม
การปั่นต้องใช้มือจับหูหม้อทองเหลืองทั้ง 2 ข้าง แกว่งหรือหมุนไปมาในถังไม้ที่ใส่นํ้าแข็งผสมเกลือ
หลังจากปั่นได้ครึ่งชั่วโมง - 1 ชั่วโมง ไอของความเย็นจะเริ่มเกาะรอบนอกของกระบอก นํ้าหวานข้างในจะเริ่มแข็งตัว ช่วงนี้ต้องเสียบไม้เข้าไปตรงกลางเพื่อเอาไว้จับกิน จากนั้นหมุนต่อไปอีกจนไอติมแข็งตัว เอากระบอกโลหะไปจุ่มในนํ้าอุ่นเพื่อให้ดึงไอติมออกจากกระบอกง่ายขึ้น นำไปใส่กระติกเร่ขาย ปัจจุบันยังมีไอติมแบบนี้ออกขายอยู่
ต่อมา บริษัทป๊อบ ผู้ผลิตไอศกรีมตราเป็ด ไอศกรีมรายแรกของเมืองไทย สั่งซื้อเครื่องทำไอศกรีมจากต่างประเทศมาผลิตไอศกรีมได้ครั้งละมากๆ เน้นความสะอาดและคุณภาพ
ทำให้ไอศกรีมเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว โดยไอศกรีมตราเป็ดยุคแรก ๆ ยังเป็นไอติมหวานเย็น ก่อนมีการดัดแปลงรสชาติใหม่ ๆ เป็นรสระกำ เฉาก๊วย ลอดช่อง โอเลี้ยง ข้าวเหนียวแดง ถั่วดำ ฯลฯ พร้อมกับนำสูตรใส่นมจากต่างประเทศทำให้เนื้อไอศกรีมละเอียดและเนียน เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น
ไทยสมัยนั้นยังสามารถดัดแปลงไอศกรีมจนเป็นเอกลักษณ์ไทยคือ ไอติมกะทิ โดยใช้กะทิสดผสมนํ้าตาลใส่แทนนมและครีม ไม่ต้องใช้กระบอกทำเป็นแท่ง แต่ใช้ตักใส่ถ้วยเป็นลูกๆ และมีคำเรียกขานใหม่ว่า "ไอติมตัก"
ต่อมาจึงมีแบบตักใส่ถ้วยกรอบและขนมปังผ่ากลาง จุดเด่นของไอศกรีมกะทิคือ ดัดแปลงให้มีรสชาติต่างๆ ได้ง่าย เช่น เติมลอดช่อง เม็ดแมงลัก ข้าวโพด ขนุน และเผือก เป็นถ้วย เอ๊ย! เป็นต้น