ปะการังสีแดงสดใสเรียกว่า ปะการังหัวกอร์กอน (gorgons-head coral) หรือแอนโธมาสติด (anthomastid) เป็นสปีชีส์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งพบอยู่ที่ความลึก 1,700 เมตร ทางใต้ของทัสมาเนีย (CSIRO)
นักวิทยาศาสตร์ยังคงสำรวจพบความมหัศจรรย์ ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกแถบเกาะทัสมาเนีย ของออสเตรเลีย ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต รูปร่างหน้าตาสวยงามแปลกตาเพียบ สปีชีส์ใหม่ๆ ก็มีเยอะแยะ พร้อมฟอสซิลปะการังหมื่นปี ที่ชี้ว่าโลกร้อนกำลังคุกคามสัตว์โลกใต้ทะเล
ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียร่วมกับสหรัฐฯ สำรวจใต้ทะเลลึกบริเวณทิศใต้จากชายฝั่งของเกาะทัสมาเนีย ออสเตรเลีย ซึ่งลงลึกกว่าครั้งใดๆ ที่เคยสำรวจมาแล้วก่อนหน้า ทั้งพบสิ่งมีชีวิตหน้าตาสวยงามแปลกประหลาดมากมาย หลายชนิดจัดเป็นสปีชีส์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีอยู่ในสารบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิต ตามหลักวิทยาศาสตร์ และได้ข้อมูลบ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเหล่านี้ กำลังถูกคุกคามจากภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยส่งหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำนามว่าเจสัน (Jason) ซึ่งมีขนาดประมาณรถเก๋ง ดำดิ่งลงไปสำรวจใต้ทะเลบริเวณที่เป็นรอยแยกของเปลือกโลกใต้สมุทรที่เรียกว่า ทัสมัน แฟรคเชอร์ โซน (Tasman Fracture Zone) อยู่ลึกจากผิวน้ำประมาณ 4,000 เมตร
รอน เธรชเชอร์ (Ron Thresher) หัวหน้าทีมวิจัยจากองค์การการวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งสหพันธ์รัฐ หรือ คริสโร (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation: CSIRO) เปิดเผยว่า สัตว์ใต้ทะเลที่ลึกที่สุดที่พบนั้น มีทั้งเพรียงหัวหอม (sea squirt) หน้าตาพิลึกพิลั่น, แมงมุมทะเล (sea spider) และฟองน้ำขนาดใหญ่ยักษ์ รวมทั้งปะการังอ่อนสปีชีส์ใหม่ๆ และชุมชนสัตว์ทะเลที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอีกหลายชนิด ที่อิงอาศัยอยู่ร่วมกับเพรียงคอห่าน (gooseneck barnacle) และดอกไม้ทะเล
อดัม ซับแฮส (Adam Subhas) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า พวกเขาสังเกตการณ์การสำรวจอยู่บนเรือผ่านจอมอนิเตอร์ และเห็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเพรียงหัวหอมเกาะอยู่ตามแนวร่องนั้น ส่วนสภาพทางธรณีวิทยาบริเวณนั้นก็ดูสวยงามน่าหลงใหล ดินตะกอนละเอียดอ่อนและทับถมกันอย่างบางเบาราวกับปุยหิมะ
นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลแนวปะการังโบราณที่ความลึก 1,400 เมตร มีอายุมากกว่า 10,000 ปี ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในสมัยนั้น และนักวิจัยสามารถใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์หรือสถานการณ์ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้
"แม้ปัจจุบันเรายังพบแนวปะการังน้ำลึกอยู่บ้าง แต่ก็มีหลักฐานแน่นหนา บอกว่าปะการังเหล่านั้นกำลังจะตาย เพราะพบว่าปะการังที่อยู่ลึกกว่า 1,300 เมตร จำนวนมากเพิ่งตายไปเมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจะต้องศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดมากกว่านี้ แต่จากการศึกษาแบบจำลองก็บ่งชี้ได้ว่าเกิดภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทร
ส่วนในเดลีเทเลกราฟ อธิบายเพิ่มเติมว่าภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากการที่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินไป ไม่เพียงแต่ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดภาวะน้ำทะเลเป็นกรดด้วย เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมากเกินไปนั้น จะถูกดูดซับไว้ในน้ำทะเลมากถึง 25%
"ถ้าเราวิเคราะห์ได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ปะการังเสียหายหรือตายลงจริงแล้วล่ะก็ ผลกระทบที่เราเห็นที่ความลึก 1,300 เมตร ในวันนี้ จะขยายไปสู่แนวปะการังส่วนอื่นๆ ที่อยู่ตื้นกว่านี้ในอีก 50 ปีข้างหน้า รวมทั้งสังคมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใกล้แนวปะการังก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยกันทั้งหมด" เธรชเชอร์ กล่าว
ทั้งนี้ จากรายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อปี 2551 ระบุว่า เกรต แบริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) หรือ แนวประการังใหญ่ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวประการังขนาดใหญ่ และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจถูกสภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทำลายจนหมดสิ้นได้ภายในไม่กี่สิบปีนี้.