ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้

เทศกาลตรุษจีน
" ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้"

ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประโยคหนึ่งที่เราได้ยินกันอยู่จนชินนั้นก็คือ "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" ซึ่งเป็นคำอวยพรที่แปลเป็นไทยได้ว่า "ขอให้โชคดีปีใหม่" นั่นเอง

ตามความเชื่อ ชาวจีนจะถือเอาวันที่ 1 เดือน 1 ทางจันทรคติของจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งวันนี้จะตรงกับวันแรกของฤดูใบไม้ผลิทำให้วันตรุษจีนมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" อีกด้วย

ตามธรรมเนียม ก่อนถึงวันสิ้นปี ชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านของตนขนานใหญ่และพอถึงช่วงเทศกาล ก็จะหยุดทำงาน ทำกิจการการค้าเพื่อทำพิธีไหว้เจ้าที่ โดยต้องไหว้กันถึง 2 วันซ้อน (ซึ่งมีไหว้กลางดึกด้วย) และนอกจากนี้ยังใช้ช่วงเวลานี้ไปเยี่ยมไหว้คารวะญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเที่ยวผักผ่อนกันด้วย โดยเรียกวันต่างๆ ในช่วงเทศกาลดังนี้

วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี 1 วันซึ่งชาวจีนจะต้องหาซื้อของต่างๆ เตรียมไว้ให้เสร็จในวันนี้ก่อนที่ร้านค้าจะหยุดยาว

วันไหว้ คือ การไหว้ในวันสิ้นปี โดยในตอนเช้าจะเป็นการไหว้เจ้าที่ ต่อมาในตอนสายจะเป็นการไหว้บรรพบุรุษ และบางบ้านอาจมีการไหว้ผีไม่มีญาติในตอนบ่ายอีกด้วย นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เคร่งครัดธรรมเนียมมากๆ จะมีการไหว้ในวันตรุษจีนอีกซึ่งเรียกว่า การไหว้วันชิวอิด ซึ่งจะเป็น การไหว้ตามฤกษ์ยามที่ระบุไว้ใน "แหล่ยิกเท้า" ว่าจะต้องไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย" (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) ในเวลาอะไร ตั้งโต๊ะ อย่างไรด้วยทั้งนี้เพื่อขอพรจากเทพเจ้าเพื่อให้ครอบครัวประสบโชคดีตลอดปี

ั วันถือ คือ วันตรุษจีน โดยในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่ในสิ่งที่ดีๆ ที่เป็นมงคล ในวันนี้ยังถือเป็นวันเที่ยว มีการแจกแต๊ะเอีย และมีการพากันไปไหว้คารวะญาติผู้ใหญ่เรียกว่า "ไป๊เจีย" มีการนำส้ม 4 ผลมาแลกกันด้วยเนื่องจากชาวจีนถือว่า การแลกส้มเป็นการเอาโชคดีมามอบให้แก่กัน และบางบ้านอาจเตรียมขนมอี๊ (บัวลอยของจีน) ไว้เลี้ยงแขกที่มาเยี่ยมด้วย โดยขนมอี๊นี้มีความหมายว่า ขอให้โชคดี คิดทำสิ่งใดก็ให้ง่ายและราบรื่น

 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้


ความเป็นมาของเทศกาลตรุษจีน

ถึงวันปีใหม่จีนเมื่อไร หลายคนคิดถึง อั่งเปา เป็นอันดับหนึ่ง บางคนนึกถึงการเชิดสิงโตที่เร้าใจ ขณะที่อีกหลายคนนึกถึงเป็ดไก่และหัวหมู ยังมีขนมเข่งขนมเทียนและอีกสารพัดขนมที่เรามักจะนึกถึงเมื่อวันตรุษจีนเวียนมา อาหารการกินทั้งหลายที่นำมาเซ่นไหว้ในเทศกาลนี้มีที่มาที่ไป ใช่เพียงซื้อหากันตามใจชอบ ที่สำคัญยังแฝงความหมายบางอย่างอยู่ในนั้นอีกด้วย


จีนโบราณแบ่ง ฤดูกาล ออกเป็นสี่ฤดู คือ ชุง แห่ ชิว และ ตัง ฤดูชุงหรือฤดูต้นปีคือ ฤดูใบไม้ผลิ เป็นการเริ่มต้นในสังคมเกษตรกรรมของจีนโบราณ กล่าวคือ หลังจากนี้อีก 15 วันในเทศกาลห่วงเซียวจะมีการเริ่มต้นทำนาทำไร่ การไหว้ในเทศกาลตรุษจีนในวันแรกโดยเนื้อแท้ก็คือ การไหว้ขอพรกับเทพเจ้า เพื่อให้การทำไร่ทำนา หรือการดำเนินชีวิตประสบความสำเร็จ และเทพเจ้านั้นคือเทพเจ้าแห่งโชคลาภนาม ไฉ่สิ่งเอี้ย

" ตามความเชื่อของชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และคนจีนโดยทั่วไปจะไหว้รับเสด็จท่านเป็นเทพองค์แรกที่เสด็จลงมาอวยพรแก่คนจีนในวันตรุษจีน เพราะว่า เทศกาลตรุษจีนถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่วันที่หนึ่ง เดือนหนึ่ง ตามปฏิทินจันทรคติ การจัดโต๊ะไหว้ก็จะประกอบไปด้วยของไหว้ซึ่งเป็นผลไม้มงคลสามอย่างหรือห้าอย่าง ขนมมงคลสามอย่างหรือห้าอย่าง และก็อาหารเจ เพราะว่าเทพไฉ่สิ่งเอี้ยท่านถือเป็นเทพชั้นสูง การสักการบูชาจะไม่ใช้ของคาวในการไหว้"

สำหรับเป็ดไก่หรือหัวหมูที่ขายดีเป็นพิเศษในเทศกาลนี้ เป็นการไหว้สิ้นปี ไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งอยู่ใน 8 เทศกาลสำคัญของจีน ถือเป็นเทศกาลสุดท้ายของปีเรียกว่า ก้วยนี่โจ่ย คือการไหว้เพื่อข้ามปี ในตอนเช้าจะมีการไหว้เทพเจ้า หลังจากนั้นในตอนสายจะไหว้บรรพบุรุษ บางบ้านจะไหว้บรรพบุรุษของคนจีนและผีไม่มีญาติ ซึ่งอาจจะไม่มีคนสักการะให้ในตอนบ่ายด้วย

ตอนสายอาจจะไหว้เจ้าด้วย อาจจะเอาเป็ดไก่ซึ่งเรียกว่า ซาแซหรือโหงวแซเป็นอาหารคาวสามอย่างหรือห้าอย่างไหว้เจ้าด้วยได้ ถ้าจัดสามอย่างก็จะต้องมีเป็ด ไก่ หมู แต่ถ้ามีห้าอย่างก็อาจจะเป็นเป็ด ไก่ หมู ตับ ปลา ถ้าจัดสามอย่าง ผลไม้ก็ควรจะเป็นสามอย่าง ถ้าจัดห้าอย่าง ผลไม้และขนมก็ควรจะเป็นห้าอย่าง...

วันถัดมานั่นคือวันตรุษจีน การไหว้ในวันตรุษจีนจะมีการไหว้เฉพาะเทพเจ้าและบรรพบุรุษในตอนเช้า แต่ว่าการจัดไหว้ในวันตรุษจีนก็จะไหว้แค่เป็นเครื่องสักการะเล็กๆ เช่นอาจจะมีแค่ส้มกับขนมอี๊" ส้ม เป็นผลไม้มงคลที่มีคำเรียกในภาษาจีนว่า กิก หรือ ไต่กิก แปลว่า มหาสิริมงคล เป็นผลไม้ที่ใช้ไหว้ได้ในทุกเทศกาล และใช้ในการไหว้เทพองค์ต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนยังนิยมนำส้มไปอวยพรญาติผู้ใหญ่ด้วย

สำหรับขนมที่ใช้ในการไหว้นั้นมีหลายชนิดและใช้ในการไหว้เจ้าได้ทุกเทศกาล คนจีนในไทยจะนิยมไหว้รวมกันเป็นขนมมงคลห้าอย่างเรียกว่า จับกิ้น หรือ แต่เหลียว เป็น ข้าวพอง ถั่วตัด ขนมเคลือบ ขนมงาต่างๆ รวมถึงขนมที่คนไทยเรียกว่า จันอับ

" เมล็ดถั่วเมล็ดงา ไม่ว่าจะโรยที่ไหนก็เจริญเติบโตเร็ว ข้าวกล้องก็มาจากธัญพืชธัญหาร ให้มีข้าวที่อุดมสมบูรณ์ ฟักทองความหมายคือไหว้แล้วเกิดการกำเนิด เป็นจุดกำเนิดของเงินทองที่มั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง ที่สำคัญคือ ทั้งหมดมีรสหวาน คนจีนเชื่อว่าความหวานสามารถสมานฉันท์ความสามัคคีกันในครอบครัวได้ สังเกตว่าขนมอี๋เกิดจากแป้งข้าวเหนียวเติมน้ำตาล ใส่สีแดงเข้าไปคือสีมงคลของจีน มีความหวาน มีธัญพืชธัญหารมาเกี่ยวข้อง คือให้มีความหวานชื่น มีความเหนียวคือมีการยืดหยุ่น มีความสมานฉันท์ในสถาบันครอบครัวให้มีความแน่นแฟ้น มีความกลมเกลียว คนจีนจะถือว่าความกลมเป็นสัญลักษณ์มงคล คือความกลมเกลียวซึ่งกันและกัน โต๊ะก็ตั้งโต๊ะกลม ชามก็ชามกลม ตะเกียบก็คือคู่ การประนีประนอมการอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันของครอบครัว การอยู่ด้วยกันของสังคมถือว่าเป็นธีมอันนึงที่สอดแทรกในประเพณีให้มีความสงบสุขในแต่ละเทศกาล... ส่วนฮกก้วยคือขนมถ้วยฟูความหมายคือไหว้แล้วให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและเฟื่องฟู"

แล้ว ขนมเข่ง ขนมเทียน มาจากไหน ?

ขนมเข่ง-ขนมเทียนจริงๆ แล้วจะใช้ไหว้เฉพาะ เทศกาลสารทจีน แต่โบราณตรุษจีนที่ประเทศจีนไม่ได้ไหว้ด้วยขนมเข่งขนมเทียน แต่จะไหว้ด้วยขนมโบราณห้าอย่างที่เรียกว่า ตัง เปี้ย หมี่ หมั่ว กี แต่เนื่องจากมาในประเทศไทยหาส่วนผสมที่ทำขนมเหล่านั้นไม่ได้ จึงปรับมาไหว้ด้วยขนมเข่งขนมเทียน

" วันหยี่สี่คือวันเจ้าขึ้นสวรรค์ นิยมเอาขนมเข่งขนมเทียนมาไหว้ก่อน เพื่อมีความเชื่อกันว่า เจ้าขึ้นไปรายงานสวรรค์ต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ เจ้าของบ้านจะเอาขนมเข่งขนมเทียนมาไหว้เพื่อแปะปากท่านให้พูดในสิ่งที่ดี เพราะว่ามันเหนียวท่านเคี้ยวแล้วเหนียวจะชมว่าครอบครัวนี้ทำความดี ประสบโชคดี ไปรายงานกับเง็กเซียนฮ่องเต้ ไปรายงานข้างบนบัญชีสวรรค์"

นอกจากการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ยังมีความอบอุ่นที่แฝงอยู่ในเทศกาลนี้ " ลูกหลานจะอยู่ไกลแค่ไหนจะกลับมากินข้าวพร้อมกันทั้งครอบครัว พ่อแม่ก็จะทำอาหารที่ดีที่สุดของวันนั้นให้กับลูกหลานกิน อะไรที่ดีที่สุดความอุดมสมบูรณ์ที่สุด กินเพื่อข้ามศักราชใหม่ วันรุ่งขึ้นก็จะไปเที่ยวทั้งครอบครัว อาจจะเริ่มจากการไปขอพรญาติผู้ใหญ่แล้วก็ไปเที่ยว"

สิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมประเพณี หากรอให้สูญหายไป ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นคืนกลับมา ร่วมกันรักษาสิ่งที่ดีงามเหล่านี้เอาไว้เพื่อคนรุ่นหลังบอกเล่าเรื่องราวความดีงามที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมประเพณี ให้ตรุษจีนปีนี้และปีต่อๆ ไปมีรอยยิ้มและความอบอุ่นในครอบครัว มีสิริมงคลต่อชีวิต และมีอั่งเปาเรียกรอยยิ้มของลูกหลานสืบไป

 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้


ธรรมเนียมตรุษจีน

วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ของจีน (วันที่ 1 เดือน 1 ของวันจีน) ถือเป็นเทศกาลใหญ่ ที่ประหนึ่งรวมเทศกาลวันตรุษ และอาจรวมเทศกาลไหว้สิ้นปี เข้ากับเทศกาลวันตรุษ ซึ่งจะต่างกับวันไทย และวันสากล ในขณะที่วันของไทย เป็นวันข้างขึ้น และข้างแรม เดือนหนึ่งมี 30 วัน ของจีนจะเป็นเดือนสั้น และเดือนยาว เดือนสั้นมี 29 วัน เดือนยาวมี 30 วัน

วันจีนจะช้ากว่าวันข้างขึ้น ข้างแรม ในปฏิทินอยู่ 2 เดือน ยกตัวอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 เมื่อดูในปฎิทินจะเป็นขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หรือสมมติว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2535 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 2 ก็คิดกลับเป็นวันจีนจะเป็นวันที่ 8 เดือน 12 จากนั้นนับต่อจากวันที่ 8 ไปเป็นวันที่ 9 เดือน 12 ของจีน คือ วันที่ 1 มกราคม 2536 นับไปเรื่อยๆ จนครบวันที่ 30 เดือน 12 ของจีน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2536 ของไทย ดังนั้นวันตรุษจีน คือ วันที่ 1 เดือน 1 ของจีน ก็จะตรงกับวันที่ 23 มกราคม 2536 เป็นต้น

วันสิ้นปีจะมีการไหว้ หลายอย่าง นิยมเรียกว่า "วันไหว้" มักเรียกวันก่อนหน้าวันไหว้ว่า "วันจ่าย" เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะจับจ่ายซื้อของไหว้ของใช้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าจะปิดธุรกิจหลายวัน

การไหว้ตรุษจีนจะนิยมเรียกกันว่า "วันชิวอิด" แปลว่า วันที่ 1 มีความน่าสนใจตรงที่ว่า คนจีนจะไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย" หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ"ในเวลากลางดึก

เมื่อเวลาย่างเข้าวันตรุษหรือวันชิวอิดไช้ แปลว่า โชคซิ้ง และเอี๊ย แปลว่า เจ้า นอกจากนี้เวลาไหว้ยังมีฤกษ์ยาม และทิศที่จะตั้งโต๊ะไหว้ ยังเป็นทิศ และเวลาเฉพาะในแต่ละปี เพื่อความเป็นสิริมงคล ของไหว้จะไหว้ง่ายๆ ด้วยส้ม และโหงวเส็กทึ้งกับน้ำชา

ส้ม คนจีนเรียกว่า กา หรือ "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี เพื่ออวยพรให้ลูกหลานโชคดี และใช้ให้เป็นของขวัญ...นำโชคมามอบให้แก่กัน

โหงวเส็กทึ้ง แปลว่า ขนม 5 สี ได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ข้าวพอง ถั่วเคลือบน้ำตาล และฟักเชื่อม บางทีก็เรียกว่า "ขนมจันอับ" หรือ "แต่เหลียง"

บางบ้านมีการไหว้อาหารเจแห้ง ให้แก่บรรพบุรุษด้วย บางบ้านนิยมเปิดไฟไว้ที่ศาลเจ้าที่ "ตี่จู่เอี๊ย" เพื่อรอรับวันที่เจ้าที่จะเสด็จกลับลงมาจากสวรรค์ในวันที่ 4 เดือน 1 ของจีน

ในวันตรุษจีน หรือวันชิวอิด ในหมู่คนจีนจะทราบกันว่า นี่คือ "วันถือ" ถือที่จะทำในสิ่งที่ดี และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่สวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดแต่ "หออ่วย" แปลว่า คำดีๆ ไม่อารมณ์เสียหงุดหงิด ไม่ทำงานหนัก เพื่อที่ว่าตลอดปีจะได้ไม่ต้องทำงานหนักนัก ไม่กวาดบ้าน เพราะอาจปัดสิ่งดีๆ มีมงคลออกไป แล้วกวาดความไม่ดีเข้ามา

เริ่มต้นเช้าวันตรุษ คนในบ้านก็จะทักทายกันด้วยคำอวยพร "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" หมายถึง เวลาใหม่ให้สมใจ ปีใหม่ให้สมปรารถนา

"อั้งเปา" ในวันตรุษจีน มีคำจีนโบราณเรียกว่า "เอี๊ยบซ้วยจี๊" เป็นเงินสิริมงคลที่ผู้ใหญ่ให้แก่ลูกหลาน เพื่ออวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง และเจริญก้าวหน้า

ธรรมเนียมหนึ่งในวันตรุษจีนคือการไป "ไป๊เจีย" หรือการไปไหว้ขอพร และอวยพรผู้ใหญ่ หรือญาติมิตร โดยส้มสีทอง 4 ผลห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าผู้ชาย ที่นิยมใช้กันแต่ส้มสีทอง ไม่ใช้ส้มเขียว เพราะสีทองเป็นสีมงคล ทองอร่ามเรืองจะอวยพรให้รุ่งเรือง

เช่นเดียวกับส้ม ที่คนจีนเรียกว่า ไต้กิก แปลว่า โชคดี ส้มสีทองที่มอบแก่กันคือ นัยอวยพรให้ "นี้นี้ไต้กิก" แปลว่า ทุกๆ ปีให้โชคดีตลอดไป ส้มสีทอง 4 ใบ เมื่อเจ้าบ้านรับไป จะเป็นการรับไปเปลี่ยนว่าเปลี่ยนส้ม 2 ใบของแขกกับ 2 ใบของที่บ้าน แล้วคืนส้ม 4 ใบคืน ให้แขกนำกลับไป 2 ใบของที่บ้าน แล้วคืนส้ม 4 ใบ คืนให้แขกนำกลับไป หมายถึง การที่ต่างฝ่าย ต่างให้โชคดีแก่กัน

การติดฮู้ เป็นธรรมเนียมที่นิยมถือทำในวันตรุษจีน เช่น การติด "ฮู้" หรือยันต์แผ่นใหม่ เพื่อคุ้มครองบ้าน ติด "ตุ้ยเลี้ยง" หรือแผ่นคำอวยพรที่ปากทางเข้าบ้าน

 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้


คำอวยพรภาษาจีน

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ แปลว่า "สวัสดีปีใหม่ ขอให้เจริญรุ่งเรือง "

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้เกียงคง แปลว่า "สวัสดีปีใหม่ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง"

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้เพ่งอัง แปลว่า "สวัสดีปีใหม่ ขอให้ปลอดภัยจากอันตราย และโรคภัยไข้เจ็บ "

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ตั่วถั่ง แปลว่า "ขอให้ธุรกิจก้าวหน้า กำไรงดงาม "


 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้


" การไหว้เจ้า"

" การไหว้เจ้า"

เป็นประเพณีที่ชาวจีนประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมากว่า 3,000 ปี ( สมัยราชวงศ์โจว) เพื่อให้เกิดความสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งกิจการงานธุรกิจที่ประกอบอยู่ ชาวจีนจึงมีความเชื่อสืบต่อๆ กันมาว่า ในปีหนึ่งๆ มักจะมีสิ่งเลวร้าย เรื่องไม่ดีงาม เรื่องอัปมงคลมากระทบกระทั่ง หรือรบกวนการดำเนินชีวิตของคนเราจนทำให้เกิดอุปสรรคต่างๆ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย การงานติดขัดไม่ราบรื่น เงินทองไม่คล่อง ทำอะไรก็พบแต่ความยุ่งยาก ค้าขายลำบากมีแต่อุปสรรค บุตรบริวารก่อเรื่องวุ่นวาย นำความยุ่งยากลำบากใจมาให้ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผิดปกติ ทำให้รู้ได้ว่า "ดวงชะตาชีวิต" ไม่ดีนัก จึงจะต้องมีการขวนขวายหาที่พึ่ง จึงทำให้ก่อกำเนิดประเพณี การไหว้เจ้า ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ ไหว้บรรพบุรุษ ขึ้น

" การไหว้เจ้า" นอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นการวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้พบแต่ความสุขความเจริญทำมาค้าขึ้น ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง มีสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวลูกหลานเป็นคนดีงาม

ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท และเสริมสร้างความมั่นใจ ที่จะช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในแต่ละปี นอกจากการแก้ไขด้วยสติปัญญาและความสามารถแล้ว โบราณาจารย์ยังได้แนะนำให้ "ไหว้เจ้า" เพื่อเสริมสิริมงคลและพลังแห่งชีวิตพิชิตอุปสรรคให้เกิดกำลังใจ โดยเทพเจ้าองค์สำคัญของชาวจีนที่จะต้องไหว้ช่วงปีใหม่หรือเทศกาลตรุษจีนก็คือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่ง และ การค้าขาย หรือ เทพเจ้าไฉ่เซ่งเอี้ย เพื่อขอพรให้คุ้มครองดวงชะตาชีวิต คุ้มครองปีเกิด ทุกนักษัตรซึ่งชะตาชีวิตของคนเราย่อมมีขึ้นมีลง มีดีมีร้าย หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป

ฉะนั้น การไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา จึงเป็นเรื่องสำคัญ ชาวจีนจะให้ความสำคัญกับ "เทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย" อย่างมาก ดังจะเห็นได้จากโหราศาสตร์หรือดวงจีนที่ผูกพันกับเรื่องนักษัตรปีเกิด หรือดวงชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม

ความสำคัญของเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี้ย) ตามหลัก "โป๊ยยี่สี่เถี่ยว" หรือ โหราศาสตร์จีน ในแต่ละปี ดวงชะตาชีวิตของแต่ละคนก็จะเปลี่ยนแปลงไป ดวงชะตาของคนเกิดปีนักษัตรต่างๆ ทั้ง 12 นักษัตร จะมีความสัมพันธ์กับนักษัตรในปีนั้นๆ มีทั้ง "ดี" คือส่งเสริม คนจีนเรียก " ฮะ" และ "ไม่ดี" คือ "ชง"

ถ้าปีใดส่งเสริมกัน ก็จะทำให้เจ้าชะตาชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าปีใดเป็นปีปฏิปักษ์ต่อกัน หรือ"ชง" ก็จะทำให้เจ้าชะตาชีวิตมีแต่อุปสรรค ติดขัด การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น

ไม่ว่าชะตาชีวิตจะดีหรือไม่ดี อย่างไรก็ตาม ชาวจีนจะต้องไหว้ "เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา" (ไท้ส่วยเอี้ย) เพื่อให้คุ้มครอง หากดวงชะตาชีวิตดีอยู่แล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าชะตาชีวิตไม่ดีก็จะช่วยให้หนักเป็นเบา คุ้มครองป้องกันจากอุปสรรคทั้งปวงให้ผ่านพ้นไปดี จนผ่านปีนักษัตรนั้นไปได้ด้วยความราบรื่น

การไหว้ " เทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย" เป็นความเชื่อ และประเพณีปฏิบัติของชาวจีนทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่มีดวงชะตาตกต่ำ หรือ "ชงปี"

วิธีแก้ไขดวงชะตา จะมีการทำพิธี นำซึ้งปักเต๋าเก็ง หรือ พิธีสวดมนต์เสริมดวงชะตา แต่ผู้ไม่ "ชงปี" ก็สามารถทำได้ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข หนุนส่งดวงชะตาให้ดียิ่งๆ ขึ้น

หลักวิธีดูปีที่ "ชง"หรือ"ฮะ" (ไม่ถูกโฉลกกัน)

ปีชวด ไม่ถูกโฉลกกับ ปีมะเมีย

ปีฉลู ไม่ถูกโฉลกกับ ปีมะแม

ปีขาล ไม่ถูกโฉลกกับ ปีวอก

ปีเถาะ ไม่ถูกโฉลกกับ ปีระกา

ปีมะโรง ไม่ถูกโฉลกกับ ปีจอ

ปีมะเส็ง ไม่ถูกโฉลกกับ ปีกุน


ปีที่ส่งเสริมกัน (ถูกโฉลก)

ปีชวด ถูกโฉลกกับ ปีฉลู

ปีขาล ถูกโฉลกกับ ปีกุน

ปีเถาะ ถูกโฉลกกับ ปีจอ

ปีมะโรง ถูกโฉลกกับ ปีระกา

ปีมะเส็ง ถูกโฉลกกับ ปีวอก

ปีมะเมีย ถูกโฉลกกับ ปีมะแม


วิธีไหว้เจ้าเสริมดวงชะตา สะเดาะเคราะห์

• เขียนชื่อ-สกุล วัน เดือน ปีเกิด ของตนเอง หรือเขียนแทนให้คนอื่นก็ได้

• นำไปไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี้ย)

• จุดธูป 3 ดอก อธิษฐานให้ท่านช่วยคุ้มครองดวงชะตาชีวิต

• ถ้าเป็นของตัวเองให้ปัดลงมาตั้งแต่ศีรษะลงมาสุดแขน 12 ครั้ง

• นำซองที่บรรจุดวงชะตาฝากไว้กับทางวัด ซึ่งจะเก็บไว้ทำพิธีสวดมนต์เสริมสิริมงคลให้เจ้าของชื่อ มีความสุข โชคดีตลอดปี ตามแบบพิธีจีน

การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ เพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุข ความเจริญแก่ครอบครัว

ในปีหนึ่งมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง เรียกว่า โป๊ยโจ่ย แปลว่า 8 เทศกาล ดังนี้

• ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 ( เป็นการกำหนดวันทางจันทรคติของจีน) คือ ตรุษจีน เรียกว่า ง่วงตั้งโจ่ย

• ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า ง่วงเซียวโจ่ย

• ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า ไหว้เช็งเม้ง เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย

• ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า โหงวเหว่ยโจ่ย เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง

• ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีน เรียกว่า ตงง้วงโจ่ย

• ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า ตงชิวโจ่ย ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์

• ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า ไหว้ตังโจ่ย

• ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ ก๊วยนี้โจ่ย

นอกจากนี้บางบ้านยังมีการไหว้พิเศษ คือการไหว้เทพยดาที่ตนเองเคารพนับถือ เช่น

• ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่นการไหว้วันเกิดเทพยดา ฟ้าดิน เรียกว่า ทีกงแซ หรือ ทีตี่แซ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน

• ไหว้อาเนี๊ยแซ คือไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือวันที่ 19 เดือน 2 วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9

• ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3

• ไหว้เทพยดาผืนดิน คือไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3

• ไหว้อาพั๊ว คือการไหว้วันเกิดอาพั๊ว หรืออาพั๊วแซ ซึ่งอาพั๊ว หมายถึง พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี

• ไหว้เจ้าเตา คือไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า ไหว้เจ๊าซิ้ง

 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้


อาหารสำหรับไหว้เจ้า

ขนมไหว้เจ้า
ซาลาเปา (หมี่ก้วย หรือ หมี่เปา)
ไม่มีไส้ เรียกว่า หมั่นโถว มีแบบที่ทำจาหัวมัน เนื้อออกสีเหลือง และแบบไม่ผสมมัน เนื้อออกสีขาว นิยมทำให้แตกเหมือนดอกไม้บาน ถ้าลูกเล็กจะแต้มจุดแดง ลูกใหญ่จะปั๊มตัวหนังสือสีแดง เขียนว่า ฮก แปลว่า โชคดี
มีไส้ นิยมไส้ เต้าซา แป้งไม่ผสมมัน หน้าไม่แตก มีตัวหนังสือปั๊มว่า เฮง แปลว่าโชคดี

ซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาพิเศษ ทำเป็นรูปลูกท้อ ใส้เต้าซา เพราะถือว่าเป็นผลไม้สวรรค์ ใช้ในงานวันเกิด ใครได้กินอายุจะยืนยาว

หนึงกอ (ขนมไข่) ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง

ก๊าก้วย (ฮวกก้วย) "ฮวก" แปลว่า งอกงาม / "ก้วย" แปลว่า ขนม ใช้กับงานมงคลเป็นส่วนใหญ่ เช่นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ บนหน้าขนมปั๊มตัวหนังสือตรงกลาง "ฮวดไช้" คำที่อยู่รอบนอก คือ "เฮง" แปลว่า โชคดี

คักท้อก้วย มีไส้ข้าว ไส้กุยช่าย ไส้ผัดผักกะหล่ำ ไส้ถั่ว นวดกับแป้งผสมสีแดง เป็นสีนำโชค ใช้ไหว้เจ้าที่ หรือไหว้บรรพบุรุษ

จับกิ้ม (แต่เหลียง) หรือที่คนไทย เรียกว่า "ขนมจันอับ" ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกประเภท ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ
เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด มั่วปัง คือ ขนมงาตัด ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง

ตั่วเปี้ย คนไทยเรีกว่า "ขนมเปี๊ย" แบบเจ เรียกว่า "เจเปี้ย" มีไส้มังสวิรัติ เช่น ไส้เต้าซา แบบชอ เรียกว่า "ชอเปี้ย" ใส่มันหมู ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกอย่าง

ทึ้งถะ คือ เจดีย์น้ำตาล ซึ่งต้องมีทึ้งไซ หรือสิงห์น้ำตาล มีไว้เพื่ออารักขาเจดีย์ ใช้ไหว้เทพยดาฟ้าดิน ในวันที่ 9 เดือน 1 ของทุกปีและสามรถใช้ไหว้เจ้าแม่กวนอิมในวันไหว้พระจันทร์ได้

โหงวก้วย -โหงวอั้ง หรือขนมลูกหลาน ใช้ไหว้คนตายในงานศพเท่านั้น ทำจากแป้งข้าวเจ้า ทั้งแบบเกลี้ยง และแบบแต่งถั่วดำ กินไม่อร่อย แต่ใช้ในการทำพิธี

น้ำตาล นำน้ำตาลมาใส่ถุง ติดกระดาษแดง สามารถใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง

ผลไม้ไหว้เจ้า

ส้ม คำจีนเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี

องุ่น คำจีนเรียกว่า "พู่ท้อ" หมายถึง งอกงาม

สับปะรด คำจีนเรียกว่า "อั้งไล้" แปลว่า มีโชคมาหา

กล้วย คำจีนเรียกว่า "เฮียงเจีย" หรือ “ เกงเจีย ” มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล

 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้


คนจีนเชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า "อิมกัง" ดังนั้นลูกหลานจึงต้องส่งเงินทองไปให้ เพื่อแสดงความกตัญญู ด้วยการไหว้เจ้า แล้วเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้ และการไหว้เจ้ายังเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน ให้มีความสุขความเจริญ ซึ่งกระดาษเงินกระดาษทองบางแบบใช้ไหว้เจ้า บางแบบใช้ไหว้บรรพบุรุษ


กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงินกระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า "เผ่งอัน" เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดดีใช้สำหรับไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน

กิมจั้ว หรือ งึ้งจั๊ว หมายถึงกระดาษเงินกระดาษทอง เวลาจะไหว้จะทำเป็นชุด ก่อนไหว้ลูกหลานจ้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง

กิมเต้า หรือ งึ้งเต้า หรือถังเงินถังทอง ใช้ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน

กิมเตี๊ยว คือ แท่งทอง ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้คนตาย

ค้อซี คือ กระดาษทอง ก่อนใช้ให้พับเป็นรูปร่างก่อน เช่น พับเป็นเรือ เรียกว่า "เคี้ยวเท่าซี" เชื่อกันว่าการพับเรือ จะได้ ้มูลค่าสูงกว่าการพับอย่างอื่นใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง รวมทั้งไหว้คนตาย โดยเฉพาะพิธีทำกงเต๊ก ลูกหลานต้องพับค้อซี ให้มากที่สุด

อิมกังจัวยี่ คือแบงก์กงเต็กนั่นเอง

อ่วงแซจิ่ว ใช้เผาเป็นใบเบิกทาง ไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย

เพ้า คือ ชุดของเทพเจ้า คล้ายกับที่คนไทยถวายผ้าห่มพระพุทธรูป มีการทำของเจ้าหลายองค์ เช่น ชุดของเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม พระพุทธ

ตั้วกิม เป็นกระดาษเงินกระดาษทองที่ญาติสนิทนำไปไหว้ผู้ตาย การเผากระดาษเงินกระดาษทองจะต้องทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ทุกคนได้เส้นไหว้เสร็จ ก็จะทำการ "เหี่ยม" หรือจบเหนือศีรษะ ระหว่างนี้ให้ทำการอธิฐานขอพรไปด้วย แล้วจึงนำไปเผา เมื่อไฟมอดแล้วจึงไหว้ลา เป็นการเสร็จพิธี


ตำนานประทัด

ในสมัยโบราณชาวจีนนิยมนั่งคุยและปิ้งอาหารกินกันข้างกองไฟในเวลาค่ำจึงทำให้ เหนียน(สัตว์ร้ายตัวใหญ่ รูปร่างคล้ายแรดผสมวัว) ได้กลิ่นอาหาร ออกมาจากป่าทำให้ผู้คนหวาดกลัว แต่พอเหนียนเข้ามาใกล้กองไฟกลับตกใจเสียงประทุจากกองไฟแล้ววิ่งหนีไป แต่นั้นมาชาวจีนจึงได้ประดิษฐ์สิ่งของสีแดงที่มีเสียงดังเพื่อขับไล่เหนียน จนพัฒนามาเป็น ประทัด และใช้จุดในเทศกาลต่างๆ เพื่อขับไล่สิ่งร้ายๆให้จากไป

สนับสนุนข้อมูลโดย
ลูกทุ่ง FM
กรุงเทพธุรกิจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์