ทุกวันนี้มีอาหารเสริมบำรุงสุขภาพตัวใหม่ๆ ออกมามากมาย แต่เรารู้จักอาหารเสริมจริงๆ กันมากน้อยแค่ไหน?
นิตยสาร "Health Plus" ฉบับก.พ.มีคำแนะนำของ ดร.มาร์ค แอต คินสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกเกี่ยวกับอาหารเสริม
ชาวอเมริกันเรียกอาหารเสริมว่า "dietary supplements" ขณะที่คนอังกฤษ เรียกว่า "nutritional supplements" มีส่วนผสมของสารอาหารที่มีประโยชน์ได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ สมุนไพร และกรดอะมิโน
วงจรชีวิตของอาหารเสริมเริ่มจากภาชนะขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบซึ่งเป็นส่วนผสมหลังจากผสมเข้ากันดีแล้ว จากนั้นจะถูกบีบอัดที่ความดันสูงจนกลายเป็นยาเม็ดแบนๆ เคลือบด้วยน้ำตาลหรือโปรตีนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ก่อนจะไปใส่ขวดพลาสติกหรือขวดแก้วอัดอากาศ และปิดฉลาก
อาหารเสริมแตกต่างจากยา ตรงที่ยาต้องได้รับการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค ขณะที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ผลิตอาหารเสริมต้องพิสูจน์ความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตในอังกฤษต่างหันมาใส่ใจในการผลิตอาหารเสริมให้มีคุณภาพสูง เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย มีการทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยทางการแพทย์และทดลองในห้องปฏิบัติการมากขึ้น และขอรับคำยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอาหารและยา
เหตุใดอาหารเสริมที่คล้ายๆ กันมีราคาต่างกัน?
ดร.มาร์คบอกว่า การที่อาหารเสริมบางชนิดแตกต่างกันมากเรื่องราคาเพราะมีความแตกต่างในแง่คุณภาพการดูดซึม และปริมาณของส่วนผสม แต่ก็มีไม่น้อยที่ราคาแพงเพราะเป็นยี่ห้อมีชื่อเสียงและบริษัทผู้ผลิตใช้เงินจำนวนมากเป็นค่าการตลาด
แน่นอนว่า นี่คือต้นทุนที่ผู้ผลิตต้องเรียกคืนจากผู้บริโภค
"คำแนะนำของผมคือให้เลือกซื้ออาหารเสริมที่ผลิตได้คุณภาพและราคาเหมาะสม โดยดูจากบริษัทผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง ให้ข้อมูลชัดเจนบนฉลากสินค้า รวมถึงข้อมูลด้านการตลาด มีคำยืนยันจากผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ เลือกซื้อประเภทที่เป็นไฮโปอัลเลอร์เจนิก ปลอดจากสารแต่งกลิ่น สี และสารกันบูด มีหมายเลขโทรศัพท์ของฝ่ายบริการลูกค้ากำกับอยู่ด้วย และบริษัทผู้ผลิตต้องเต็มใจที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ หากผู้บริโภคต้องการทราบ"
การกินอาหารเสริมมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในด้านลบต่อร่างกาย
คำเตือน อย่ากินมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด