ซูโดะกุ เกมปริศนาตัวเลข ที่ผู้เล่นต้องเลือกใส่ หมายเลขตั้งแต่ เลข 1 ถึงเลข 9 โดยมีเงื่อนไขว่าในแต่แถวและแต่ละหลักตัวเลขต้องไม่ซ้ำกัน
เมื่อเอ่ยถึงเกมส์ คนส่วนใหญ่มักจะคิดไปถึงเกมส์ที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกวิดีโอเกมส์ เกมส์คอมพิวเตอร์ หรือเกมออนไลน์มากกว่า
ซึ่งผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยที่อยากจะให้เด็ก ๆ เล่นเกมส์มากจนเกินไป จนกลายเป็นติดเกมส์ในที่สุด เพราะกลัวว่าจะเสียการเรียน บ้างเสียสุขภาพบ้าง แต่ในวันนี้เราขอแนะนำเกมส์หนึ่ง นั่นก็คือเกมส์ "Sudoku" ซึ่งดีต่อสุขภาพสมองของคุณค่ะ
ตารางซูโดะกุจะมี 9x9 ช่อง ซึ่งประกอบจากตารางย่อย 9 ตาราง ในลักษณะ 3x3 แบ่งแยกกันโดยเส้นหนา และในแต่ละตารางย่อยจะมีตัวเลข 1 ถึง 9 เช่นเดียวกัน
ชื่อ ซูโดะกุ ในภาษาญี่ปุ่น เป็นคำย่อจากคำว่า ซูจิวะโดะกุชินนิคางิ มีความหมายว่า ตัวเลขต้องมีเพียงเลขเดียว ชื่อของซูโดะกุ มีการเรียกชื่อแตกต่างกันในแต่ละภาษา ตั้งแต่ ซูโดะกุ ซูโดกุ ซูโดกู หรือ ซูโดคู นิตยสารในเครือ ปริศนา ของบริษัท สำนักพิมพ์อาทร จำกัด เคยเรียกชื่อเกมนี้ว่า ปริศนา 1 ถึง 9 เนื่องจากต้องเติมตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 ลงในตาราง และอาจเรียกว่า ปริศนา 1 ถึง 7, 1 ถึง 12, 1 ถึง 16, 1 ถึง 25 ฯลฯ ตามจำนวนตัวเลขที่จะต้องเติมในรูปแบบต่าง ๆ
ลับสมองไปกับ Sudoku
เมื่อเริ่มเกมจะมีตัวเลขบางส่วนให้มาเป็นคำใบ้ และผู้เล่นจะต้องใส่ทุกช่องที่เหลือให้ครบ ในปัจจุบันมีการเล่นตามคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ เช่นในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยมีระดับ ง่าย ปานกลาง ยาก และยากมาก หรือคอลัมน์ท้าทายท้ายเล่มของวารสาร Reader's Digest ฉบับภาษาไทย หนังสือรวมเล่ม โทรศัพท์มือถือ เกมกด คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือเล่นบนอินเทอร์เน็ตตามเว็บไซต์ต่าง ๆ
โดยตามเงื่อนไขว่าแต่ละตัวเลขในแต่ละแถวและหลักจะใช้ได้ครั้งเดียว รวมถึงในแต่ละขอบเขตตารางย่อย การเล่นเกมนี้จำเป็นต้องใช้ความสามารถในด้าน ตรรกะ และความอดทนรวมถึงสมาธิ เกมนี้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2522 ในชื่อ นัมเบอร์เพลส (Number Place) แต่เป็นที่นิยมและโด่งดังในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ ซูโดะกุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และเป็นที่นิยมทั่วโลกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548
นอกจากนี้เกมส์ "Sudoku" ยังเป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้วยว่า ช่วยพัฒนาสมองของผู้เล่น เพราะในการลงตัวเลขลงตารางแต่ละช่อง จำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบเพราะตัวเลขทุกตัวจะสัมพันธ์กันหมด คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่อยากให้ลูกตัวน้อยเล่นเกมส์แบบมีสาระก็ลองพิจารณา "Sudoku" ดูนะคะ