นิ สั ย แ บ บ อ ย่ า ง
นิ สั ย แ บ บ อ ย่ า ง
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)
“บรรดาคณาทา รกย่อมนิยมมาน
ผู้ใหญ่จะกอปรการ กิจชั่วและดีใด
เด็กยลก็โดยแยบ ดุจแบบระเบียบใน
นั้นเนื่องนิสัยไป ตลอดชีพบ่เว้นวาง”
(จากธรรมจริยา)
ท่านสาธุชนผู้รักแบบอย่างทั้งหลาย
ตัวอย่างที่ควรยกมาอ้างเป็นบรรทัดฐาน
ให้เห็นคุณและโทษของบุคคลหรือสิ่งต่างๆ
ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนเราอยู่ ๒ ประการ
คือส่วนดีและส่วนเลว เรียกว่า “แบบอย่าง”
อันแบบอย่างทั้งส่วนดีและส่วนเลวนั้นย่อมเป็นครูสอนดีที่สุด
แม้เพียงแต่มีไว้ให้คนได้พบเห็นอยู่เสมอ
โดยเราไม่ต้องใช้ปากสั่งสอนเลย
ก็จะก่อให้เกิดความเคยชินในทางดีเลว
ตามแบบอย่างจนติดตาจับใจอยู่ได้ตลอดชั่วชีวิต
เราชาวโลกทั้งชายหญิง จะดีย่อมอยู่ที่แบบอย่างดี
แม้จะเลวก็อยู่ที่แบบอย่างเลว
จริงอยู่คำสั่งสอนของนักปราชญ์นั้นดีแสนดี
แต่อาศัยเสียงที่สั่งสอนอย่างเดียวโดยไม่มีแบบอย่างไว้ให้แลเห็นด้วย
ก็ไม่สู้จะมีอำนาจทำประโยชน์ให้ได้มากนัก
ตรงกับคำโบราณว่า
“สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ”
สิบรู้ไป่เปรียบได้ ชำนาญ หนึ่งนา
เห็นหนึ่งสิบข่าวสาร ไป่แม้น
สิบตาเพ่งดูการ ห่อนแน่ นอนเฮย
มือหนึ่งจับแน่นแฟ้น ยิ่งรู้สมประสงค์
จริงทีเดียว คนเรามักเรียนจากตามากกว่าจากหู
สิ่งที่ปรากฎเห็นด้วยตา
ย่อมจับใจแม่นกว่าอ่านพบหรือได้ยินเขาเล่าบอก
คนเราที่อยู่ในวัยเด็กต้องอาศัยตา
เป็นทางนำความรู้เข้ามามากกว่าประสาทอื่นๆ
เรามักจะเห็นเด็กทำตามผู้ใหญ่อยู่เสมอ
เช่นเมื่อผู้ใหญ่ยกมือไหว้หรือก้มลงกราบพระ
เด็กก็พลอยทำตามอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ
คนผู้ครองชีพชอบทำ แม้จะไม่พูดแนะนำใครเลย
ก็อาจเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ดีกว่าผู้พูดดีแต่ประพฤติชั่วหลายเท่า
ดังนั้น ผู้สอนที่ดีชั้นเยี่ยม
จึงนิยมการให้แบบอย่างมากกว่าการบอกเล่ากล่าวสอน
ถือว่าส่วนดีที่สุดแห่งการให้แบบอย่าง
อยู่ที่เมื่อตนให้แบบอย่างแล้ว
ตนต้องลงมือทำตามแบบอย่างของตนเอง
เพื่อเป็นอุบายจูงใจ ให้ผู้เอาอย่างเกิดฉันทะสมัครทำตาม
เพราะว่าแบบอย่างที่แสดงออกมาให้เห็นทั้งหลาย
ย่อมเป็นครูสอนดีที่สุด
ซึ่งแม้จะไม่มีปากสั่งสอนก็ยังไม่มีครูอื่นใดสู้ได้
แบบอย่างที่เข้าถึงนิสัยแล้ว จัดเป็น จิตเลขา
คือเขียนฝากไว้ในจิตใจ
เหมือนหล่อเป็นตัวอักษรในแผ่นทองเก็บไว้อย่างถาวร
ย่อมมีผลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าคำพูด ได้ในคำโบราณว่า
“หนึ่งเฟื้องของการทำให้เป็นแบบอย่าง
มีค่าเท่ากับหนึ่งหาบของการสั่งสอนด้วยปาก”
นี่คือความจริงอันขุดจากความจริง
เพราะสิ่งที่เราทำพูดดังกว่าสิ่งที่เราพูด
คำพูดเสมือนหนึ่งใบไม้ การทำเสมือนหนึ่งผลไม้
ซึ่งแสดงความหมายลึกซึ้งกว่ากัน