นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านพบว่า การดื่มชาร้อนอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหาร โดยเฉพาะการดื่มชาดำที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป
จังหวัดโกเลสตาน ทางเหนือของอิหร่าน เป็นพื้นที่หนึ่งที่พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหารชนิด OSCC หรือ oesophageal squamous cell carcinoma มากที่สุดในโลก ทั้งที่ผู้คนในจังหวัดนี้ มีอัตราการสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ต่ำมาก
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเตหะราน จึงได้ลงมือศึกษาแล้วพบว่า พฤติกรรมการดื่มชาร้อนนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ
โดยนักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการดื่มชาร้อนใน 300 คน ที่ถูกวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งหลอดอาหารชนิด OSCC และนำพวกเขามาเปรียบเทียบกับอีก 570 คน ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยผู้เข้าร่วมการทดสอบเกือบทุกคนดื่มชาดำอยู่เป็นประจำ ปริมาณการดื่มอยู่ที่ 1 ลิตรต่อวันโดยเฉลี่ย
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ดื่มชาดำร้อน คือมีอุณหภูมิระหว่าง 65 ถึง 69 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่าถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มชาดำแบบอุ่น คือมีอุณหภูมิไม่ถึง 65 องซาเซลเซียส ส่วนผู้ที่ดื่มชาดำแบบร้อนจัด คือมีอุณหภูมิเกิน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า
ความเร็วในการดื่มชาก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยผู้ที่ดื่มชารวดเดียวหมดภายใน 2 นาที หลังรินใส่ถ้วย จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้เวลาดื่มชาเกิน 4 นาทีขึ้นไป แต่ปริมาณความมากน้อยในการดื่มชา ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้
ผลการศึกษาดังกล่าวจึงเป็นที่มาว่า เหตุใดคนในซีกโลกตะวันออกจึงป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหารกันมากขึ้น ขณะที่คนในซีกโลกตะวันตก มักนิยมใส่นมลงไปในชา จึงช่วยให้ชาเย็นลงและระงับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แต่ผู้คนในตะวันตกมักป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหาร จากการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า