
กฏหมายน่ารู้ ประชาชนธรรมดา จะจับกุมผู้กระทำผิดได้หรือไม่

โดยปกติแล้วการจับกุมผู้กระทำผิดนั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งคำว่า
เจ้าพนักงานที่ว่านี้มีความหมายกว้างขึ้นอยู่กับกฎหมาย ในแต่ละเรื่องนั้นจะบัญญัติให้ใครเป็นเจ้าพนักงาน เช่นเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายศุลกากร มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมความผิดเกี่ยวกับการขนสินค้าหนีภาษี เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายสรรพสามิต มีอำนาจหน้าที่จับกุมความผิดเกี่ยวกับสรรพสามิต ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนตำรวจ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นั้น จัดอยู่ในประเภทพนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่จับกุมความผิดได้ทุกประเภท แม้ว่าความผิดนั้นๆ จะมีเจ้าพนักงานโดยเฉพาะอยู่แล้วก็ตาม เช่นความผิดตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ตำรวจ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ก็ยังมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมได้
สำหรับประชาชนหรือที่เรียกว่าราษฎรธรรมดานั้น โดยปกติไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจับกุมผู้ใดได้ เพราะประชาชนธรรมดาไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างไรก็ดีกฎหมายไม่ได้ห้ามเด็ดขาดตายตัวว่ามิให้ประชาชนธรรมดาจับกุมผู้กระทำผิดโดยสิ้นเชิงบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นไว้ให้ประชาชนธรรมดามีอำนาจที่จะจับกุมผู้กระทำผิดได้เฉพาะในบางกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
1. เมื่อเจ้าพนักงานร้องขอให้ช่วยจับ
กรณีนี้จะต้องเป็นเรื่องที่มีหมายจับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานใดก็ตามและเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามกฎหมายหรือจับตามหมายจับนั้นได้ร้องขอให้ประชาชนธรรมดาช่วยจับกุมผู้กระทำผิดที่หมายจับระบุไว้ ข้อนี้ต้องพึงระวังให้ดีว่าถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานจะจับกุมโดยไม่มีหมายจับแม้เจ้าพนักงานจะร้องขอให้ประชาชนธรรมดาช่วยจับ ประชาชนธรรมดาก็ไม่มีอำนาจในการจับกุม มีข้อสังเกตว่าคำร้องขอของเจ้าพนักงานเช่นนี้ไม่ถือเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานดังนั้น ประชาชนผู้ได้รับคำร้องขอจะปฏิบัติตามคำร้องขอนั้นหรือไม่ก็ได้
2. เมื่อพบการกระทำผิดซึ่งหน้าเฉพาะความผิดประเภทที่กฎหมายระบุไว้กรณีนี้ประชาชนผู้พบการกระทำผิดนั้นสามารถเข้าทำการจับกุมได้ทันทีโดยไม่ต้องคอยให้เจ้าพนักงานร้องขอ
อย่างไรก็ดีอำนาจในการจับกุมของประชาชนธรรมดาตามข้อ ๒ นี้ค่อนข้างจะมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะแต่ความผิดประเภทที่ระบุไว้ในท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้นและต้องเป็นกรณีที่พบการกระทำผิดซึ่งหน้าอีกด้วย ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้นับว่าเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ไม่เคยเรียนกฎหมายมาก่อนเพราะจะไม่ทราบความหมายแค่ไหน เพราะถ้อยคำนี้เป็นคำทางกฎหมาย ซึ่งมีความหมายเฉพาะไม่จำเป็นต้องนำมาเขียนในที่นี้ แต่จะขอนำเอาความผิดซึ่งหน้าที่ระบุอยู่ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเฉพาะที่พบอยู่เสมอเพื่อเป็นแนวทางในการจดจำ
• ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
• ความผิดฐานหลบหนีจากที่คุมขัง
• ความผิดต่อศาสนา
• ความผิดปลอมแปลงเงินตรา
• การก่อการจลาจล
• ข่มขืนกระทำชำเรา
• ทำร้ายร่างกาย
• ฆ่าคนตาย
• หน่วงเหนี่ยวกักขัง
• ลักทรัพย์
• วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ กรรโชกทรัพย์
3. เมื่อประชาชนผู้เป็นนายประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้หลบหนี้ประกัน หรือจะหลบหนีประกันโดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถจะขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานให้จับกุมได้ทันท่วงทีเท่านั้น
การจับกุมประชาชนธรรมดา ตามที่กล่าวมาทั้ง ๓ กรณีนี้เป็นเพียงอำนาจตามกฎหมาย ที่จะจับกุม ได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ และถ้าเป็นกรณีอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ประชาชนธรรมดาก็ ไม่มีอำนาจทำการ จับกุมผู้กระทำผิดได้เลย
ผลทางกฎหมาย
กรณีที่ประชาชนธรรมดามีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้ดังกล่าวมาในข้อ ๑-๓นี้ ประชาชนผู้ทำการจับกุมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่น ไม่มีความผิดฐานทำให้ผู้ถูกจับเสื่อมเสียอิสรภาพเสรีภาพหรือหากผู้จะถูกจับนั้นต่อสู้ขัดขวางประชาชนผู้จับก็มีอำนาจใช้กำลังป้องกันตนได้พอสมควรแก่เหตุ
ในทำนองกลับกัน ถ้าเป็นกรณีไม่มีอำนาจจับกุมได้ตามกฎหมาย ผู้จับก็ต้องมีความผิดฐาน ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ และอาจมีความผิดฐานอื่นติดตามมากมาย เช่น บุกรุก ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูล กระทรวงยุติธรรม
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday