ขณะที่ข่าวใหญ่-ข่าวดังเกิดต่อเนื่อง-เกิดสลับสับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ข่าวหนึ่งซึ่งไม่เคยห่างหายไปจากสื่อแขนงต่าง ๆ เลย และล่าสุดก็ดูเหมือนจะเป็นยุคที่ “ระบาด” มากอีกครั้งหนึ่ง...ก็คือข่าวเกี่ยวกับภัย “ข่มขืน”
ทั้งเด็กหญิง-สาวรุ่น-สตรีชรา...เป็นเหยื่อข่มขืนเป็นระยะ
ที่น่าเป็นห่วงคือ...ยุคนี้พวกหื่นที่ก่อเหตุก็เป็นคนคุ้นหน้า
“หลาย ๆ เหตุการณ์ ผู้กระทำผิดกับผู้ถูกกระทำมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน อาทิ กลุ่มเพื่อน หรือคนรู้จัก ผู้ที่กระทำผิดในคดีข่มขืนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีความหลากหลายมากขึ้น และเป็นลักษณะการ รุมโทรม มากขึ้น อีกทั้งเป็นเรื่องของการ ทำตามกระแสหรือทำตามเพื่อน ในหลายพื้นที่ พบว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก และผลกระทบเหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมีการ ถ่ายคลิป ที่สร้างความอับอายให้ด้วย”
...นี่เป็นเสียงสะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ของ อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง โดยอุษาบอกอีกว่า...
กรณีผู้ก่อคดีข่มขืนมีการใช้คลิป ใช้เทคโนโลยีร่วมกระทำผิด เป็นปัญหาจากการไม่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ใช้ความลับเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ใช้สำหรับข่มเหงและข่มขู่กัน ซึ่งจะโทษว่าเป็นความผิดของเทคโนโลยีคงไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีมีทั้งด้านดีและด้านลบ ขึ้นอยู่กับคนใช้ว่าจะเลือกใช้ด้านไหน
“ข่มขืน ปัญหาไม่ได้เกิดจากช่องว่างของกฎหมาย แต่ปัญหาเกิดจากกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นตัวปัญหา ซึ่งบางครั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่กล้าแสดงตนออกมา” ...ผอ.มูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าว และว่า... ทุกวันนี้ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของตน ตามพื้นที่ห่างไกลยังขาดการให้ข้อมูลในเรื่องนี้
สำหรับวิธีการแก้ปัญหา “ข่มขืน” อุษาชี้ว่า....
ภาครัฐ - รัฐบาลควรจริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มิเช่นนั้นปัญหาก็จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กันนี้สถาบันการศึกษาก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหา โดยสอนให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ และสอนให้เด็กผู้หญิงรู้เท่าทันปัญหาในปัจจุบัน สอนวิธีป้องกันที่เหมาะสม รวมไปถึงสอนวิธีปฏิบัติตัวเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว
“ปัจจัยที่ก่อให้เกิดคดีข่มขืนจะแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระดับชุมชน ระดับโรงเรียน รวมถึงสื่อต่าง ๆ ต้องช่วยกัน รณรงค์ต่อต้านการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่ถูกกระทำ กล้าแสดงตัวออกมา โดยรัฐบาลต้องมีกลไกสำหรับช่วยเหลือคนเหล่านี้ด้วย” ...อุษาระบุ
คุ้นหน้า ใกล้ตัว เทรนด์ใหม่ นักข่มขืน
ด้าน ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม บอกว่า... สังคมปัจจุบันคำโบราณที่ได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ คือ “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” มันไม่พอแล้ว เพราะคดีข่มขืนที่เกิดจากคนใกล้ชิด คนรู้จักเป็นคนทำ มีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนคอยระแวงตลอดเวลา เพียงแต่ควรรู้จักระวังตัวให้มากขึ้น และรู้จักสังเกต
นอกจากนี้ จากข่าวที่ปรากฏจะเห็นว่าปัจจุบันนี้มีการข่มขืนกันในระดับของคนที่มีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจริง ๆ ก็มีมานานแล้ว เพียงแต่คดีพวกนี้จะถูกซ่อนเอาไว้ไม่เปิดเผย แต่ปัจจุบันที่มีการเปิดเผยมากขึ้นเพราะมีองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสตรีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ถูกข่มขืนกล้าที่จะมีปากมีเสียง กล้าทำให้ความจริงเปิดเผยมากขึ้น “การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาข่มขืนลดลง ควรให้ความรู้กับเด็กอย่างทั่วถึง หรืออาจจะแทรกเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา เพื่อที่ว่าเด็ก ๆ จะได้เห็นผลร้ายจากการกระทำ รู้ผิดชอบชั่วดีมากขึ้น ดีกว่าปล่อยให้เด็กรู้แค่จากข่าว แล้วปล่อยผ่านไป” ...ผอ.ศูนย์ฯ บ้านกาญจนาภิเษกระบุ
พร้อมทั้งยังบอกด้วยว่า... การเมืองที่อ่อนแอ อ่อนแรงขับเคลื่อน ข้าราชการ การละเมิดทางเพศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ทั้งทางครอบครัว สังคม หรือโรงเรียน รวมถึงสื่อ, การเปลี่ยนไปของสังคมที่เปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว, การคึกคะนองของวัยรุ่น เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุภัย “ข่มขืน” ที่สังคมต้องใส่ใจ ขณะที่ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ก็ชี้ว่า... คดีข่มขืนเกิดมาจากหลายสาเหตุ ยาเสพติด แอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของคดีข่มขืนเช่นกัน
และคดีข่มขืนจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ชนชั้นรากหญ้าเท่านั้นที่ก่อคดี ปัญญาชน หรือแม้กระทั่งพระ ก็มีพฤติกรรมแบบ นี้ได้เช่นกัน
อีกทั้งผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในปัจจุบันส่วนใหญ่จะ “ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิด-คนรู้จัก” ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความไว้ใจ เชื่อใจ ไม่ทันระวังตัว ส่วนใหญ่จะถูกล่อหลอกให้ตายใจ ขณะที่กลุ่มคนแปลกหน้าเป็นผู้กระทำนั้น ปัจจุบัน มีจำนวนที่น้อยลงมาก
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี บอกว่า... การป้องกันภัย “ข่มขืน” นั้น ผู้หญิงควร ...
ฝึกป้องกันตัวจากการถูกข่มขืน ฝึกศิลปะป้องกันตัว หรือพกพาอาวุธป้องกันตัว เช่น สเปรย์พริกไทย เครื่องช็อตไฟฟ้า หลีกเลี่ยงการไปไหนสองต่อสองกับผู้ชาย และที่สำคัญคือต้องมีสติเมื่อเกิดภัยร้ายขึ้นกับตัว รวมถึงการแต่งตัวของผู้หญิงเองก็เป็นส่วนสำคัญ
“กฎหมายก็ควรจริงจังกับคดีอย่างนี้ให้มาก ๆ เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อไม่ให้เกิดคดีแบบนี้ซ้ำ ๆ ส่วนผู้ที่กระทำผิดไปแล้ว อยู่ในเรือนจำแล้ว รัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับการบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาก ๆ เพื่อที่ว่าพ้นโทษออกมาแล้วจะได้ไม่ก่อคดีซ้ำอย่างที่มีข่าวอยู่เรื่อย ๆ” ...สุเพ็ญศรีระบุ
“ข่มขืน” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาอมตะในสังคมไทยเรา
ยุคนี้ยิ่งน่าห่วงเพราะ “คนคุ้นหน้า” ก็ใช่จะไว้ใจได้
และแม้แต่ “คนในครอบครัว” ก็ยังน่ากลัว ?!?!?