ทางแห่งบุญที่ถูกต้อง
ทางแห่งบุญที่ถูกต้อง
รวบรวม-เรียบเรียงโดย พ.ต.อ.ประยูร ดิษฐานพงศ์
บางคนเข้าใจว่าการทำบุญนั้น จะต้องมีเงินสำหรับการทำบุญเท่านั้นจึงจะเรียกว่าบุญ คนที่ไม่มีเงินหรือมีเงินน้อยก็หมดโอกาสที่จะทำบุญสร้างกุศลได้ หรือหมดโอกาสทำบุญอย่างคนอื่นที่มีเงิน ซึ่งการทำบุญโดยใช้เงินทำบุญนั้นเป็นหนึ่งในวิธีการทำบุญสิบอย่างเท่านั้น การทำบุญด้วยเงินเป็นการทำให้ผู้ทำรู้จักเสียสละทรัพย์ของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ละความตระหนี่ถี่เหนียว ละความเห็นแก่ตัว และละความโลภลงได้
บางคนหลงภูมิใจเข้าใจว่า ทำบุญทำทานด้วยเงินที่ตนมีมากมายในชีวิตนี้ และได้ทุ่มเททำบุญทำทานด้วยเงินมากมายขนาดนี้ จึงถือว่าเป็นบุญที่มากมายมหาศาล หาใครจะมาทำบุญมากเท่าตนมิได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีเงินทำบุญจะมาแข่งวาสนาบารมีในเรื่องการทำบุญไม่ได้ แต่ตนไม่ได้สร้างบุญอย่างอื่นเลย เช่น รักษาศีล, ฟังธรรม, ทำสมาธิ เป็นต้น จึงเป็นความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่นิยมทำบุญสร้างกุศลด้วยการใช้เงิน และคิดว่าเงินนั้นซื้อบุญได้ เงินนั้นแลกเปลี่ยนเป็นบุญได้
นอกจากการทำบุญที่ต้องใช้เงินแล้ว ยังมีการทำบุญสร้างกุศลโดยไม่ต้องใช้เงินอีก ๙ วิธี คนจนคนมีเงินน้อยก็มีสิทธิ์มีโอกาสทำบุญทำกุศลมากมายหลายอย่างที่ไม่ต้องใช้เงินอย่างคนรวยเขาทำกัน บุญอีก ๙ อย่าง (คือบุญกริยาวัตถุ ๑๐ ข้อ ๒ ถึง ข้อ ๑๐) นั้นสูงมากกว่าบุญที่ทำทานด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
บุญกริยาวัตถุ ๑๐
๑. ทานมัย คือ การทำบุญด้วยการให้ทาน
๒. ศีลมัย คือ การทำบุญด้วยการรักษาศีล สำรวมกาย วาจา ให้เรียบร้อย
๓. ภาวนามัย คือ การทำบุญด้วยการอบรมจิตใจ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ
๔. อปจายนมัย คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม ผู้มีพระคุณ เป็นต้น
๕. เวยยาวัจมัย คือ การช่วยเหลือผู้อื่นในงานที่ชอบ
๖. ปัตตานุโมทนามัย คือ การอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำไว้ดีแล้ว คือเห็นดีเห็นชอบด้วย
๗. ธัมมัสสวนมัย คือ การฟังธรรม การอ่านหนังสือธรรมะ
๘. ธัมมเทสนามัย คือ การแสดงธรรม
๙. ปัตติทานมัย คือ การแผ่ส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็น ปรับความเห็นของตนให้ถูกต้องตามครรลองครองธรรม เช่นการโยนิโสมนสิการ การพิจารณาธรรม
ในเรื่องของทาน ศีล ภาวนา ที่คนเราปฏิบัติกันอยู่นั้น ทานได้แก่การให้คือเครื่องละงับความโลภ รักษาศีลเป็นเครื่องระงับความโกรธ ภาวนาเป็นเครื่องระงับความหลง
การปฏิบัติเพียงให้ทาน รักษาศีล เพียง ๒ อย่างนี้เป็นบุญที่มีกำลังน้อย ให้สำเร็จเพียงมรรคผลเบื้องต่ำเท่านั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เท่านั้น ถ้าเจริญภาวนาไปด้วยก็จะมีกำลังมาก ให้สำเร็จถึงมรรคผลคือพระอรหันตผล แต่ถ้าทำทาน รักษาศีล ทำภาวนา ทำด้วยตัณหาก็เป็นบุญที่มีกำลังน้อย ถ้าไม่ทำด้วยตัณหาก็มีกำลังมากให้สำเร็จมรรคผลได้
ตัณหามี ๓ อย่างด้วยกัน คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ยกตัวอย่างการทำบุญที่แฝงไว้ด้วยตัณหาทั้งสามอย่าง
กามตัณหา ได้แก่ ความอยาก อยากได้นั่นอยากได้นี่ เช่นทำบุญอยากได้วิมานสวยในสวรรค์ ทำบุญขอให้เกิดชาติใหม่เป็นคนรวย, เป็นคนหล่อ คนสวย เป็นต้น
ภวตัณหา ได้แก่ ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ทำบุญหวังไว้ว่าถ้าตายไปจะได้เกิดเป็นเทวดา หรือนั่งสมาธิแล้วหวังไว้ว่าถ้าตายไปจะได้เกิดเป็นพรหม เป็นใหญ่บนสวรรค์ เป็นต้น
วิภวตัณหา ได้แก่ ความอยากเหมือนกัน เป็นความอยากที่ไม่อยากเป็นนั่นไม่อยากเป็นนี่ เช่น ทำบุญไว้เพื่อชาติใหม่ไม่อยากเกิดมาจน เป็นต้น
บุคคลที่ทำทาน รักษาศีล ภาวนา ที่มีความปรารถนาในตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือทำบุญโดยหวังผลตอบแทนไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด แต่กุศลนั้นมีน้อยเรียกว่า วัฏฏคามี เป็นการทำบุญที่ทำให้ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ ส่วนบุคคลที่ทำทาน รักษาศีล ภาวนา โดยไม่มีตัณหามาเจือปน ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เรียกว่า วิวัฏฏคามี เป็นกุศลที่ทำแล้วพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมาเกิด แก่ เจ็บ ตายอีก
ถามว่า : ทำบุญแล้วไม่อาศัยตัณหาหรือผลตอบแทนแล้วอาศัยอะไร ?
ตอบว่า : ให้อาศัยปัญญาพิจารณาถึงกองทุกข์ คือ ชาติความเกิดมาเป็นขันธ์ ๕ หรือรูปกับนาม ที่มีความแก่ชรา เจ็บไข้ได้ป่วย มีความแตกดับทำลายไป มีความโศกเศร้าเสียใจด้วยความพลัดพรากจากสังขาร และสิ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจ ความทุกข์ทั้งหลายจะเกิดจะมีต้องอาศัยตัณหา ความดิ้นรนอยากเกิดอยากมีต่อไปในภพหน้า
ตัณหาทั้งหลายพาสัตว์เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ต่อไปอีก ไม่ให้สัตว์ทั้งหลายถึงซึ่งนิพพานออกจากภพชาติได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ต่อไปด้วยตัณหานี้เอง
เมื่ออาศัยปัญญาพิจารณาเห็นโทษของตัณหาที่พาเวียนวนตายเกิดนี้แล้ว ก็สิ้นความยินดีที่จะอาศัยตัณหาความอยากในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัส ให้เกิดความกำหนัดรักใคร่ในโลกีย์นี้อีก