ศาสตร์ของอาหารฤทธิ์เย็น-อาหารฤทธิ์ร้อนในนิตยสาร "ครัว" ฉบับล่าสุด ยังมีประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะสรรพคุณการรักษาโรค
ร่างกายของคนเรา หากไม่มีความสมดุล มีภาวะร้อนเกินหรือเย็นเกิน ร่างกายจะแสดงอาการป่วยออกมา อาการเจ็บป่วยที่บ่งบอกถึงสภาวะร่างกายที่มีความร้อนหรือเย็นเกิน ลักษณะจะต่างกัน
สภาวะร้อนเกิน เช่น ตาแดง ตาแห้ง แสบตา ขอบตาคล้ำ มีสิว ฝ้า มีตุ่ม แปลในช่องปาก ปากคอแห้ง ผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย มีรังแค ไข้ขึ้น ปวดหัว ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว เส้นเลือดขอด มีรอยเขียวคล้ำตามผิวหนัง ปวด บวม แดงร้อนตามร่างกาย กล้ามเนื้อเกร็งค้าง กดเจ็บ เป็นตะคริว ท้องผูก อุจจาระแข็ง เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง หิวมากและบ่อย หูอื้อ ตาลาย สะอึก เกร็ง ชัก เป็นต้น
สิ่งที่จะช่วยได้คือการปรับสมดุลให้กับร่างกายด้วยการกินอาหารฤทธิ์เย็น
นอกจากนี้ ยังมีโรคซึ่งเกิดจากสภาวะร้อนภายในร่างกายมากและเกิดการสะสมมานาน เช่น โรคหัวใจ เป็นหวัดร้อน ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ริดสีดวงทวาร ตกขาว ตกเลือด ปวดมดลูก หอบหืด ไตอักเสบ ไตวาย นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต เกาต์ เบาหวาน เนื้องอก มะเร็ง ฯลฯ
โรคเหล่านี้ควรเร่งปรับสมดุลให้ร่างกายด้วยการกินอาหารฤทธิ์เย็นสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ส่วนอาการที่เกิดจากสภาวะร่างกายเย็นเกิน เช่น หน้าซีด มีตุ่มหรือแผลในปากด้านบน ตาแฉะ ขี้ตามาก ตามัว มีเสมหะมาก หนักหัว หัวตื้อ เจ็บหน้าอกด้านขวา หายใจไม่อิ่ม ท้องอืด จุกเสียดแน่น มักท้องเสีย มือเท้าชาเย็น
เมื่อเกิดสภาวะเช่นนี้ควรแก้ด้วยอาหารฤทธิ์ร้อนเป็นหลัก อาหารฤทธิ์เย็นเป็นรอง เช่น กินอาหารฤทธิ์เย็นผ่านไฟ อาทิ น้ำย่านางผสมน้ำอุ่น น้ำใบเตยผสมน้ำอุ่น
กับสภาวะอากาศร้อนบ้านเรา การกินอาหารฤทธิ์เย็นจะสร้างความสบายให้กับร่างกายมากที่สุด ทำให้เบากาย ร่างกายทำงานไม่หนัก อีกทั้งยังได้รับประโยชน์สูงสุดจากสารอาหาร ผู้ที่กินอาหารฤทธิ์เย็นเป็นประจำมักจิตใจเบิกบาน
ยิ่งอากาศร้อนๆ ที่ส่งผลต่อความเครียดมากขึ้น การกินอาหารฤทธิ์เย็น เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว เมล็ดธัญพืช จะช่วยให้สมองสร้างสารเซโรโตนิน (serotonin) สารควบคุมอารมณ์ที่ไม่ให้เกิดภาวะเครียด
โดยเฉพาะในสภาวะโลกร้อนเช่นนี้ อาหารฤทธิ์เย็นน่าจะมาแรง