น.พ.วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ เตือนพ่อแม่ ผู้ปกครอง หมั่นสอดส่องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอม
เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดที่ระบาดและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มักจะตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือผู้ค้า
คุณหมอกล่าวว่าปัจจุบันผู้ค้ายาได้นำเอากลยุทธ์ต่าง ๆ มาช่วยในการขาย พร้อมทั้งตั้งชื่อเรียกให้ดูน่าสนใจ
เช่น การนำน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับน้ำอัดลม นมเปรี้ยวหรือยาแก้ไอ แล้วเรียกว่า "วันทูคอล" หรือไม่ก็สูตร "ทรีอินวัน" ที่นำกาแฟผสมน้ำต้มใบกระท่อมและยาเสพติดอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ค้ามักจะใช้เป็นวิธีนำยาเสพติดเข้าถึงตัวเด็กโดยจะแฝงมากับรถขายขนม เครื่องดื่ม โดยจอดตามย่านชุมชนและตามสถานที่ใกล้โรงเรียน ทำให้เด็กรับประทานยาเสพติดที่แฝงอยู่เข้าไปโดยไม่รู้ตัว
จากการสอบถามคนไข้ได้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมักจะแฝงมากับรถขายขนม เครื่องดื่ม แล้วจอดขายอยู่ตามย่านชุมชน และตามสถานที่ใกล้โรงเรียน
เวลาเลิกเรียน เด็กที่เป็นหัวหน้ากลุ่มก็จะชักชวนเพื่อนๆ ไปซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้ หากเด็กคนไหนไม่รู้ เมื่อกินเข้าไปครั้งแรกจะชอบ คิดว่าอร่อย ทำให้วันต่อๆ ไปกระหายและอยากกินอีก ทำให้เสพติดโดยไม่รู้ตัว
แนะพ่อแม่รู้เท่าทัน ยาเสพติดคุกคามลูก
นอกจากนี้ยังมีศัพท์ต่างๆ ที่มักใช้เรียกกันในกลุ่มเฉพาะที่พ่อแม่ควรรู้ เช่น ชักชวนไปเล่นสเกตน้ำแข็ง หรือไปกินน้ำแข็งไส อาจหมายถึงการชักชวนไปเสพยาไอซ์ เป็นต้น
จิตแพทย์กล่าวต่อว่า ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ถ้าหากเด็กเริ่มทดลองกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ก็อาจจะทำให้เด็กทดลองยาเสพติดอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากความอยากรู้จากตัวเด็กเอง ซึ่งเด็กเองก็ไม่รู้ว่าหากใช้ไปนาน ๆ จะเริ่มติดเพราะความเคยชิน ซึ่งอาจจะเกิดจากทัศนคติที่เปลี่ยนไป โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันหรือมองเป็นแฟชั่น
น.พ.วศินให้คำแนะนำในการป้องกันไม่ให้ลูกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดว่า
1.พ่อแม่ต้องตื่นตัวและรู้ทันเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด คอยติดตามข่าวสาร หาความรู้ให้มาก อีกทั้งต้องรู้ถึงกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ค้ายาให้ได้ เพราะจะได้เตือนลูกว่า ยาเสพติดมักจะแฝงอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ และใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน
2.พยายามเข้าใจชีวิตวัยรุ่นให้มากที่สุด วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากทดลอง ต้องการเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ต้องสังเกตและเก็บรายละเอียดต่างๆ ของลูกอยู่เสมอ เช่น ศัพท์ที่วัยรุ่นพูดกัน
3.พ่อแม่ควรปลูกฝังและสร้างทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งให้โทษมากกว่าประโยชน์ หากมีเพื่อนเสพก็ไม่ควรไปอยู่ใกล้หรือเกี่ยวจ้อง เพราะถ้ายังคบเพื่อนเหล่านั้น ถึงตัวเองจะไม่ได้เสพ แต่นานๆ เข้าเด็กจะเริ่มซึบซับและมีทัศนคติว่ายาเสพติดเป็นเรื่องธรรมดา
4.ต้องปลูกฝังคำว่า "ไม่" ให้กับลูก สอนลูกให้กล้าที่จะปฏิเสธหากเพื่อนนำยาเสพติดมาให้ลอง โดยคิดเสมอว่าเขาไม่หวังดีกับเรา
5.ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว และหากิจกรรมที่มีประโยชน์ให้กับลูก ก็จะทำให้ลูกห่างไกลจากยาเสพติดมากขึ้น
และ 6.ควรศึกษาเทคนิคการสื่อสารทำความเข้าใจกับลูก ควบคู่ไปกับการสอดส่องพฤติกรรมของลูก เพื่อให้ลูกมีความเข้าใจในเจตนาของพ่อแม่