ส.ค.ส. สยามใบแรก
ส.ค.ส.แผ่นแรกของไทย พบหลักฐานว่ามีขึ้นใน พ.ศ. 2409 สมัยรัชกาลที่ 4 บนแผ่นการ์ดเป็นลายพระหัตถ์เขียนอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นสำหรับพระราชทานคณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1866
บัตรอวยพรอันประเมินค่ามิได้อายุ 140 ปีแผ่นนี้ พบในร้าน Maggs Bros ร้านหนังสือเก่าแก่ ใจกลางกรุงลอนดอน
แล้วผู้ซื้อกลับมาคืนสู่แผ่นดินมาตุภูมิ ก็คือ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามผ่านเอกสารของชาวตะวันตก เจ้าของผลงานเล่มล่าสุด "กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง" (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า "หนังสือเล่มนี้จะขยายพรมแดนแห่งความรู้ว่าด้วยอดีตของสยามประเทศ")
ธวัชชัย อธิบายว่า
ส.ค.ส.เก่าแก่ที่สุดใบนี้ รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้แก่ "กัปตันบุช" (ข้าราชบริพารชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าแผ่นดินไทยถึงสองพระองค์ คือ ร.4-5) แล้วก่อนหน้าที่พบ ส.ค.ส.แผ่นนี้ ก็เคยได้อ่านงานเขียนของ เอนก นาวิมูล เกี่ยวกับประวัติการส่งบัตรอวยพรปีใหม่ หรือ ส.ค.ส.ของไทยสันนิษฐานว่าหลักฐานเก่าที่สุดที่พบเป็นบัตรพระราชทานพรปีใหม่ ที่ ร.4 ทรงพิมพ์และส่งไปยังกงสุล และมิตรสหายชาวต่างประเทศ ประเทศต่างๆ ลงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409)
คุณเอนกเขียนไว้ในนิตยสารสารคดีว่า...
บัตรอวยพรใบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ยังค้นไม่ได้ ในเมืองไทยเห็นจะไม่เหลือ ตั้งความหวังไว้เพียงต่างประเทศเท่านั้น เพราะเขาเก็บของได้ดีกว่า บัตรอวยพรยุคเก่าที่มีตัวตนเหลืออยู่ค่อนข้างมาก ได้แก่ ส.ค.ส.สมัยรัชกาลที่ 5 นับแต่ พ.ศ. 2429 เป็นต้นมา...
ผมคงต้องบอกว่า ได้ ส.ค.ส.มาด้วยความฟลุค โดยซื้อกลับมาได้เมื่อ พ.ศ. 2543 ความที่เราเป็นลูกค้าประจำร้านหนังสือ Maggs Bros วันหนึ่งเขาก็นำเอกสารตัวเขียน (manuscript) เป็นแผ่นกระดาษเก่าๆ อัดๆ รวมกันในซองแฟ้ม โดยเสนอขายว่าเป็นเอกสารเก่าแก่สมัย คิงมงกุฎ ซึ่งพอเขาเปิดออกมา ผมเห็นตราพระราชลัญจกร ร.4 ก็ยิ้มเลย ตัดสินใจได้ทันทีว่าต้องซื้อ
ธวัชชัย เลี่ยงไม่ตอบคำถามเรื่องราคา
หากอธิบายว่าร้านนี้ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396) ได้ตราประจำพระองค์ของพระราชินีอลิซาเบธ ซึ่งแสดงว่าร้านนี้ส่งหนังสือให้สำนักพระราชวัง บรรยากาศจึงขลังมาก ขายหนังสือเชคสเปียร์เล่มละ 5 ล้านปอนด์ เป็นต้น "เดินเข้าไปในร้าน ไม่รู้หรอกว่าเขาขายหนังสือเล่มละเป็นแสนเป็นล้านปอนด์ เรียกว่าเดินหลงเข้าไป แต่งตัวก็เละๆ แต่เขาคงชื่นชมในความกล้า แล้วเห็นว่าเราสนใจเรื่องนี้จริงๆ ช่างซักถามโน่นถามนี่ บางทีคนขายหนังสือร้านไฮโซในลอนดอนก็เหงาเหมือนกันนะ" ธวัชชัย บอกพร้อมเสียงหัวเราะ
นอกจาก ส.ค.ส.ฉบับแรกของสยาม ค.ศ. 1866 เอกสารเก่าที่ซื้อมาครั้งนี้ยังมี ส.ค.ส.ฉบับพิมพ์แผ่นแรกของสยาม ค.ศ. 1867 ทั้งสองฉบับอยู่ในสภาพดีอย่างแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีอายุร้อยกว่าปี ไม่ขาดชำรุด เปื่อยยุ่ย หรือปรุพรุน เช่นเอกสารโบราณส่วนใหญ่ คงเป็นเพราะที่อังกฤษนั้น สภาพภูมิอากาศและการดูแลรักษา เอื้ออำนวยให้เอกสารสำคัญนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์
คุณค่าของ ส.ค.ส.สองฉบับนี้ ธวัชชัยมองคุณค่าในบริบทประวัติศาสตร์ และทำให้เขาหาคำตอบต่อไปว่า ส.ค.ส.ฉบับแรกของโลกนั้นเป็นความคิดของ เฮนรี โคล และออกแบบโดยจอห์น คาลคอตต์ ฮอร์สลี ชาวอังกฤษ พิมพ์ 1,000 ใบ จำหน่ายที่กรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
"การส่งบัตรอวยพรจึงเป็นธรรมเนียมตะวันตก เพราะฉะนั้นการส่ง ส.ค.ส.ของรัชกาลที่ 4 จึงมีนัยสื่อให้ตะวันตกเห็นว่า เมืองสยามไม่ได้ป่าเถื่อน ที่ฝรั่งจะใช้เป็นข้ออ้างมาครอบครองเราได้ เรารู้ธรรมเนียมอารยะที่ต้องส่งการ์ดกันทุกวันปีใหม่ แล้วถ้ามองทะลุผ่านลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษ 30-40 บรรทัดนี้ เราจะเห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ท่าน
นักประวัติศาสตร์หลายคนอาจมองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ว่าเราเป็น รัฐกันชน ระหว่างอินโดจีนกับพม่า แต่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ทวีปเอเชียมีแค่ไทยกับญี่ปุ่นที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม ถ้าเราไม่ได้พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาเช่น ร.4-5 ก็ไม่แน่ว่าการเป็นรัฐกันชนจะต้านจักรวรรดินิยมได้เพียงพอหรือเปล่า วันนี้เราอาจไปยืนเคารพธงชาติของคนอื่นก็เป็นได้"
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก