เผย5ปัจจัยฆ่าตัวตาย
นายนิตย์ ทองเพชรศรี เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.สงขลา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่อง “ปัจจัยด้านครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับการพยายามฆ่าตัวตายของประชาชนจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย”
โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากครอบครัวผู้พยายามฆ่าตัวตายในทุกอำเภอของจังหวัดตรัง จำนวน 30 ครอบครัว และครอบครัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน จำนวน 30 ครอบครัว ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ.2551 พบว่า
ปัจจัยภายในครอบครัวที่มีผลต่อการพยายามฆ่าตัวตายอย่างมาก คือ
1.การสื่อสารในครอบครัวที่ไม่เข้าใจกัน มีการใช้คำพูดที่รุนแรง คำด่าทอ เช่น “มึงโง่” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่มักได้ฟังคำพูดจากพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือญาติว่า “อยู่ไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใคร ให้ไปตายเสีย” คำพูดเหล่านี้อาจสร้างความน้อยใจให้เกิดขึ้นกับบุตรหลานโดยที่ไม่มีใครรู้
2.สัมพันธภาพในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกหรือคนในครอบครัวเดียวกันไม่มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันและกัน และไม่มีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของแต่ละคน จึงไม่สามารถช่วยกันคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การคิดว่าหาทางออกไม่เจอของใครคนใดคนหนึ่ง จนคิดแก้ปัญหาในทางที่ผิดด้วยการฆ่าตัวตาย
3.วิธีการเลี้ยงดูแบบกดขี่ การสั่งการ โดยพ่อแม่มักคิดเองว่าลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ฟังความต้องการหรือความคิดเห็นของอีกฝ่าย
4.การปรับตัวของสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาเศรษฐกิจและความเครียด เกิดการแสดงออกหรือมีท่าทีที่ทำให้สัมพันธภาพของคนในครอบครัวห่างไกลกันมากขึ้น
5.บทบาทของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกบางคนอาจรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในครอบครัวต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกตอกย้ำความไร้ค่าจากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวเดียวกัน