
นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ปัญหาต่อตนเองที่เกิดจากความเครียดเป็นไปได้ทั้งการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ ความเครียดสามารถส่งผลต่อการเจ็บป่วยทางกายได้ทุกระบบ
และมีผลแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะจุดอ่อนในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดท้อง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงระบบภูมิต้านทานโรคลดลง คนเราถ้าเครียดมากๆ ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานได้ไม่ดี ร่างกายก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และมีการศึกษาจำนวนมากพบว่า คนที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนาน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสูง
นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว จิตแพทย์ระบุว่ายังมีผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย เพราะคนที่มีความเครียดนาน ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ ก็จะเกิดความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ถ้าเป็นระยะเวลานานก็อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถทำงาน รับผิดชอบครอบครัวและชีวิตประจำวันได้บางรายอาจจะรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งเราพบเห็นเป็นข่าวจากสื่อเป็นประจำ
ผลกระทบของความเครียด นอกจากจะมีต่อตัวเองแล้ว ยังส่งผลต่อคนรอบข้างไม่น้อย
คนที่มีความเครียดสะสม มักจะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย ทำให้บรรยากาศในครอบครัว หรือที่ทำงานไม่ดี คนรอบข้างพลอยเครียดและไม่มีความสุขตามไปด้วย และในหลายๆ ราย ความอดทนต่อความขัดแย้งต่างๆ จะลดลงและมักใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงหรือทำร้ายผู้อื่น ทำให้เกิดเหตุเศร้าสลดใจติดตามมา
ทักษะในการจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถในการรับความเครียดได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนพ.ไกรสิทธิ์ บอกว่า
คนที่สุขภาพจิตแข็งแรงก็จะสามารถรับความเครียดได้มาก ถึงจุดเดือดยาก ล้มยาก ขณะที่คนที่สุขภาพจิตแข็งแรงน้อยก็จะรับความเครียดได้น้อย ถึงจุดเดือดง่าย ผลกระทบจากความเครียดก็จะมีความรุนแรง เราทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะในการจัดการกับความเครียด โดยมีหลักการคร่าวๆ คือ พยายามลดแรงกดดันที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือน้อยที่สุด และเพิ่มความสามารถของตนเองในการรับมือกับแรงกดดัน
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว