หูเสื่อม ผลการสุ่มตรวจการได้ยินของนักเรียนวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนประมาณ 400 คน ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าร้อยละ 25 มีความผิดปกติในการรับฟังเสียง เพราะปัจจุบันเด็กวัยรุ่นนิยมฟังเพลงโดยใช้หูฟังจากเครื่องเล่นเอ็มพี 3 หรือไอพอด รวมไปถึงการใช้หูฟังของเครื่องโทรศัพท์มือถือทั้งระบบธรรมดา และบลูทูธ ซึ่งการใช้หูฟังประเภทนี้ นอกจากจะส่งผลต่อภาวะการได้ยินแล้ว สมองมีโอกาสที่จะได้รับรังสีคลื่นวิทยุด้วย เพราะโดยปกติหูคนเราสามารถรับเสียงได้ประมาณ 80 เดซิเบลเท่านั้น การได้รับเสียงถึงระดับ 105 เดซิเบล โดยทฤษฎีแล้ว สามารถที่จะทำลายประสาทการรับเสียง หรืออาจจะกระทบแก้วหู จนทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้
อาการ
โดยอาการเริ่มต้นของผู้ที่ประสาทหูผิดปกติ มีหลายอาการแต่ที่พบมาก คือ การได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู ทั้งที่ไม่ได้เปิดเพลง หรือถอดหูฟังออกแล้ว เพราะปลายประสาทเกิดการกระทบกระเทือนจากเสียงที่มากระตุ้น และยังอาจเกิดอาการทรงตัวผิดปกติ เช่น ตื่นนอนแล้วมีอาการมึนงง ทรงตัวไม่ได้ ฯลฯ ถ้าเริ่มมีอาการเหล่านี้ติดต่อกัน 2-3 วันไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ การฟังเพลงหรือคุยโทรศัพท์ผ่านหูฟังเหล่านี้มากที่สุดไม่ควรฟังติดต่อกันนานเกิน 2 ชั่วโมง
หูเสื่อม
ประสาทหูเสื่อมหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "หูเสื่อม" เป็นภาวะที่ได้ยินเสียงลดลง หรือไม่ได้ยินเลย เกิดจากการรับเสียงดังเกินไปและนานเกินไป แต่ปัญหาหูเสื่อมไม่จำเป็นต้องมาจากเสียงรบกวนเสมอไป อาจเกิดขึ้นจากเสียงที่พึงปรารถนาด้วยพฤติกรรมต่างๆ เช่น ติดนิสัยฟัง MP3 ตลอดเวลาโดยเปิดในระดับดังมากๆ การเที่ยวกลางคืนบ่อยๆ ทำให้เซลล์รับเสียงคลื่นในความถี่ 2,000-6,000 เฮิร์ตท์ (Hz) ถูกกระทบกระเทือนจนทำงานไม่ได้ ผู้ป่วยจึงไม่ได้ยินเสียงพูดคุยระดับปกติ และต้องฟังเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ
เครื่องเล่น MP3
เมื่อฟังเพลงจากเครื่องเล่น MP3 อาจรู้สึกว่าเสียงไม่ดังเท่าไหร่ แต่ถ้าวัดอย่างจริงจังจะพบว่าบางคนฟังเพลงดังมากกว่า 100 เดซิเบล ทำให้หูเสื่อมเช่นเดียวกับการได้ยินเสียงดังรูปแบบอื่นๆ วิธีสังเกตว่าเครื่องเล่นเพลง MP3 ดังเกินไปหรือไม่ อาจพิจารณาได้จาก
- เซ็ตความดังเสียงเครื่องเล่นไว้เกินกว่า 60% ของระดับเสียงสูงสุดหรือไม่
- เมื่อฟังเพลงจากเครื่องเล่น MP3 ยังสามารถได้ยินเสียงจากสิ่งรอบตัวหรือไม่
- คนอื่นๆ ได้ยินเสียงจากเครื่องเล่น MP3 ของคุณหรือไม่
- เมื่อฟังเครื่องเล่น MP3 คุณต้องตะโกนคุยกับคนอื่นหรือไม่
- หลังจากฟังเครื่องเล่น MP3 คุณมีอาการหูอื้อหรือไม่
ปัญหาที่มากับเสียงดัง
- สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ หูหนวก หรือหูอึง
- ความดันโลหิตสูง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว มือเท้าเย็น ระบบไหลเวียนโลหิตบกพร่อง
- รบกวนการทำงาน การพักผ่อน ทำให้เกิดความเครียด หรือการตื่นตระหนก และอาจพัฒนาไปสู่อาการซึมเศร้า และโรคจิตประสาท
- ทำให้ขาดสมาธิ ประสิทธิภาพการคิดค้น การวิเคราะห์ข้อมูล การเรียนรู้และการรับฟังข้อมูลลดลง
- ลดประสิทธิภาพของการทำงาน รบกวนระบบ และความต่อเนื่องของการทำงาน ทำให้ทำงานล่าช้า คุณภาพ และปริมาณงานลดลง
- ขัดขวางการได้ยิน ทำให้การสื่อสารบกพร่อง ต้องตะโกนคุยกัน ได้ยินเพี้ยน
- ในเด็กเล็กทำให้พัฒนาการด้านการฟัง การพูด และการออกเสียงเพี้ยนไป
- กระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าว เสียงดังจะเร้าอารมณ์ให้สร้างความรุนแรง และอาจถึงขั้นสูญเสียการควบคุมตนเองจนทำร้ายผู้อื่นได้ แม้ได้ยินเสียงดังเพียงเล็กน้อย
โรคประสาทหูเสื่อมจากการประกอบอาชีพ
- เป็นภาวะการเสื่อมของประสาทหู เนื่องจากสัมผัสกับเสียงดังที่เกิดจากการทำงานอาชีพกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคคลที่ต้องทำงานอยู่กับเสียงดัง ลูกจ้างของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โรงทอ โรงงานถลุงเหล็ก โรงเลื่อย หรือสัมผัสกับเสียงดังนอกโรงงาน ได้แก่ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก รถอีแต๋น ตำรวจจราจร บุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีปัญหาการจราจร เป็นต้น
- องค์ประกอบที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมเนื่องจากเสียง ได้แก่ ความเข้มของเสียง เสียงดังมากจะยิ่งทำลายประสาทหูมาก ความถี่ของเสียง เสียงที่มีความถี่สูงหรือแหลมจะทำลายประสาทหูมากกล่าเสียงที่มีความถี่ต่ำ ระยะเวลาที่ได้ยินเสียง ยิ่งสัมผัสกับเสียงเป็นเวลานาน ประสาทหูจะยิ่งเสื่อมมาก ลักษณะของเสียงที่มากระทบ เสียงกระแทกไม่เป็นจังหวะ จะทำลายประสาทหูมากกว่าเสียงที่ดังติดต่อกันไปเรื่องๆ ความไวต่อการเสื่อมของหู เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะเกิดประสาทหูเสื่อมได้ง่ายกว่าคนปกติ
- การสูญเสียการได้ยิน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ การสูญเสียการได้ยินอย่างเฉียบพลัน เมื่อได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน เป็นต้น และการสูญเสียการได้ยินแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดขึ้นในผู้ที่ทำงานอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานานๆ เช่น โรงทอ โรงกลึง เป็นต้น
- เกณฑ์การวินิจฉัยโรค ประวัติทำงานในที่ที่มีเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือได้ยินเสียงดังมากทันที ผลการทำสอบสมรรถภาพการได้ยินมีกราฟเป็นรูปตัววีที่ความถี่ 4,000 เฮิร์ต และระดับการได้ยินเกิน 25 เดซิเบล
ระดับการได้ยิน
- หูปกติ น้อยกว่า 25 เดซิเบล
- หูตึงเล็กน้อย 25-40 เดซิเบล
- หูตึงปานกลาง 41-55 เดซิเบล
- หูตึงมาก 56-70 เดซิเบล
- หูตึงรุนแรง 71-90 เดซิเบล
การป้องกัน
- การแก้ไขเพื่อลดระดับเสียง เช่น ลดระยะเวลาการทำงาน ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
- การป้องกันทางสิ่งแวดล้อม เช่น กำหนดจุดอันตราย ถ้ามีเสียงดังเกิน 155 เดซิเบล ตรวจวัดเสียงบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดเสียง หรือบริเวณที่ลูกจ้างทำงาน
- การป้องกันที่ตัวบุคคล โดยให้ความรู้ และให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น ปลั๊กอุดหู ที่ครอบหู
- การตรวจการได้ยิน โดยตรวจก่อนเข้าทำงาน และตรวจระหว่างทำงาน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ