พูดได้สองภาษายื้อเวลาโรคจิตเสื่อม
"ชะลอจิตเสื่อม"
เอเจนซี - นักวิจัยแคนาดาระบุคนที่ใช้สองภาษาเป็นประจำทุกวันเกือบตลอดชีวิต สามารถชะลอการเกิดโรคจิตเสื่อมได้ 4 ปี เปรียบเทียบกับคนที่ใช้แค่ภาษาเดียว
ศาสตราจารย์เอลเลน ไบลีสต็อก จากมหาวิทยาลัยยอร์กในโทรอนโท อธิบายว่าการที่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าการใช้ภาษาเพียงภาษาเดียว น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น และทำให้การเชื่อมต่อในระบบประสาทมีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งเป็นสองปัจจัยที่ช่วยป้องกันโรคจิตเสื่อม
ทีมนักวิจัยของไบลีสต็อกทำการวิจัยกับผู้ป่วยสูงอายุ 184 คน ที่เริ่มแสดงอาการของโรคจิตเสื่อม และเข้ารับการบำบัดในคลินิกความจำแห่งหนึ่งของโทรอนโทระหว่างปี 2002-2005 ในจำนวนนี้มี 91 คนพูดได้ภาษาเดียว และ 93 คนพูดสองภาษา
นักวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยที่กลุ่มคนที่พูดภาษาเดียวจะเริ่มมีอาการของโรคจิตเสื่อมคือ 71.4 ปี และ 75.5 ปีสำหรับกลุ่มที่พูดสองภาษา
"ให้สมองได้ทำงานอยู่เสมอ"
"ความแตกต่างดังกล่าวยังคงมีอยู่แม้พิจารณาจากผลกระทบที่เป็นไปได้จากความแตกต่างทางวัฒนธรรม การย้ายถิ่น การศึกษา การจ้างงาน และเพศ" รายงานระบุ
กระนั้น ไบลีสต็อกย้ำว่า ความสามารถในการใช้สองภาษาช่วยชะลอการเกิดโรคจิตเสื่อม แต่ไม่ได้ช่วยป้องกัน และการค้นพบนี้ยังเป็นเพียงการค้นพบขั้นต้นเท่านั้น โดยทีมนักวิจัยมีแผนขยายการวิจัยเพื่อศึกษาผลลัพธ์ที่ดีจากการใช้สองภาษาต่อไป
ด้านอัลไซเมอร์ โซไซตี้ ออฟ แคนาดา บอกว่ารายงานฉบับนี้น่าตื่นเต้น และยังเป็นการยืนยันผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่บอกว่า การหากิจกรรมมาทำให้สมองทำงานอยู่เสมอจะช่วยชะลอผลกระทบจากโรคจิตเสื่อม