ที่สองดีกว่าที่หนึ่ง
หลายเดือนก่อนน้องคนหนึ่งส่งเทปมาให้ผม 2 ม้วน
เป็นเทปที่อัดจากการพูดคุยของศุ บุญเลี้ยงกับแฟนๆของเขาในงานสัมมนางานหนึ่ง
ผมเปิดฟังทันทีด้วยความเพลิดเพลินในมุมมอง
และความคิดของชายหนุ่มที่ไฟความฝันไม่เคยมอดคนนี้
ผมรู้ว่ากิจกรรมอย่างหนึ่งในชีวิตที่ศุ บุญเลี้ยง
ชอบมากและเต็มใจที่จะทำอยู่เสมอ นั่นก็คือการทำค่าย
ไม่ว่าจะเป็นค่ายเด็กหรือค่ายคนพิการ(หรือค่ายเด็กพิการ)
ในเทปมีคำพูดของเขาอยู่ตอนหนึ่งที่ผมฟังแล้วชอบมาก
ศุ เล่าว่าครั้งหนึ่งเขาพาเด็กไปเข้าค่าย
แล้วเขาให้เด็กวิ่งแข่งกัน
แต่กติกาคือ ใครเข้าเส้นชัยเป็นที่สอง-ชนะ
ชายหนุ่มเล่าว่าผลที่เกิดขึ้นก็คือ
แทนที่จะเอาชนะกันด้วยการเป็นคนที่เร็วที่สุดที่เข้าเส้นชัย
เด็กๆ กลับวิ่งแข่งกันอย่างสนุกสนาน
มีเสียงหัวเราะเฮฮาดังขึ้นอย่างร่าเริง
ในหมู่ผู้แข่งขันที่ไม่ต้องการเป็นที่หนึ่ง
ในชีวิตที่ผ่านมาบ่อยครั้งผมคิดว่า
เราถูกปลูกฝังให้เอาชนะ
คะคานเพื่อขึ้นสู่การเป็นเลิศกันมาตลอด
เราอยากเรียนให้ได้คะแนนดีที่สุด
เราอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด
เราอยากเป็นคนทำงานที่เก่งที่สุด
เพื่อให้เจ้า นายเห็นว่าเราเยี่ยมที่สุดในบริษัท
เราอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ฯลฯ
และเมื่อตั้งเป้าอย่างนี้แล้ว
เราจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุจุดหมาย
โดยบ่อยครั้งที่เราหลงลืม
หรือจงใจมองข้ามมันไปว่าเราได้ทำร้ายใครบ้างหรือเปล่า
ผมไม่ได้ว่า การแข่งขันเป็นสิ่งที่เลวร้าย
มีความดีอยู่บ้างในตัวของมันครับ
อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่เป็นคนเอื่อยเฉื่อย
เดินหายใจไปวันๆ
ผมเพียงอยากให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคน
ได้หยุดคิดสักนิดว่า
เราสามารถที่จะแข่งขันกันโดยไม่ต้องขัดขา ผลักหลัง
หรือแอบเหยียบเท้าฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่
ซึ่งคำตอบสำหรับคำถามนี้ ผมคิดว่าได้ครับ
เราสามารถช่วยกันสร้างให้เกิดการแข่งขันอันเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีได้
แต่เรื่องสวยๆ อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเราทุกคนคิดว่าใครเข้าที่สอง-ชนะ
แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร