การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ขึ้นกับระยะของโรค ตำแน่ง ขนาดของก้อนมะเร็ง และสภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย ในปัจจุบันหลังจากมีการศึกษาค้นพบหน่วยพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ จีงได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจเพื่อจะบอกว่าผู้ใดมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีวิธีหลักอยู่ 3 วิธี ได้แก่การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก การใช้ยาไปทำลายเซลล์มะเร็ง และการทำลายเซลล์มะเร็งในตำแหน่งต่างๆ ด้วยการฉายรังสี การเลือกวิธีในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งมากน้อยเพียงใด มีการลุกลาม หรือแพร่กระจายหรือไม่ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยขณะนั้นเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับวางแผนการรักษา หลังจากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์จะแบ่งระยะของโรค โดยแบ่งตามการแพร่กระจายของโรค ระยะที่ 0, 1, 2, 3, 4 ดังนี้
Stage 0 โรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น มะเร็งอยู่เฉพาะผิวของลำไส้
Stage 1 มะเร็งอยู่เฉพาะผนังลำไส้ ยังไม่แพร่ออกนอกลำไส้
Stage 2 มะเร็งแพร่ออกนอกลำไส้ แต่ยังแพร่ไม่ถึงต่อมน้ำเหลือง
Stage 3 มะเร็งแพร่ไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ
Stage 4 มะเร็งแพร่ไปอวัยวะอื่นโดยมากไปยังตับและปอด
Recurrent เป็นมะเร็งซ้ำหลังจากการรักษา
ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3, 4 ถือว่าเป็นระยะโรคลุกลาม ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การผ่าตัดอาจตัดก้อนได้ไม่หมด โอกาสเกิดเป็นซ้ำค่อนข้างสูง แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดภายหลังการผ่าตัดดีมาก แม้ว่าจะอยู่ในระยะโรคลุกลามแล้วก็ตาม โดยสูตรยาที่ใช้ประกอบด้วย irinotecan เป็นหลัก อาจใช้เดี่ยวๆ หรือร่วมกับ 5-flourouracil (5-FU)
ปัญหาคือก่อนหน้านี้ แพทย์ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าผู้ป่วยรายใดอยู่ในกลุ่มที่จะได้ผลตอบสนองต่อเคมีบำบัดหลังผ่าตัด รายใดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ผล จึงทำให้เกิดเป็นความยากลำบากในการตัดสินใจวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่โรคลุกลาม ปัจจุบันเกิดความรู้ใหม่พบว่าสิ่งที่ช่วยทำนายผลการรักษาในกรณีดังกล่าวได้คือปริมาณดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็ง
ปริมาณดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็ง เรียกว่า DNA content พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามที่มีดีเอ็นเอเป็นชนิด tetraploid, peri-tetraploid และ multiploid tumours จะตอบสนองดีมากต่อยาเคมีบำบัดสูตร irinotecan + 5-FU ซึ่งให้ยาหลังผ่าตัด ซึ่งผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเกิดผลอย่างใหญ่หลวงต่อการเลือกผู้ป่วยที่แพทย์วางแผนล่วงหน้าได้ว่า จะเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
ในทางกลับกัน ด้วยแนวคิดและเทคนิกการตรวจ DNA content ของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยรายใดจะไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด และเลือกการรักษาวิธีอื่นแทนซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการรักษาโรคดังกล่าว เช่นเลือกใช้วิธีฉายแสงเป็นต้น ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดสูตร irinotecan + 5-FU ได้แก่ ผู้ที่มีดีเอ็นเอเป็นชนิด diploid, peri-diploid และ aneuploid tumours