โอ๊ยยยยยย.......... ปวดฟัน แต่ยังไม่อยากถอนฟัน ต้องทำอย่างไรดี?

โอ๊ยยยยยย.......... "ปวดฟัน" แต่ยังไม่อยากถอนฟัน ต้องทำอย่างไรดี? ทันตแพทย์มาไขข้อข้องใจ

มักมีคำถามกับหมอเสมอว่า "ถ้าปวดฟัน แต่ไม่อยากถอนฟันจะทำอย่างไรดี" ถ้าถามว่า ทำไมฟันนั้นจึงปวด ก็ต้องตอบว่า เพราะฟันนั้นมันผุ แล้วถ้าถามว่า ทำไมฟันนั้นจึงผุ ก็ต้องตอบกันอีกยาว แต่วันนี้เราจะมาพบคำตอบกันว่า เมื่อปวดหัน เรามีทางเลือกอะไรบ้าง?




ฟันผุคืออะไร?


 


ฟันผุเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อแข็งของฟัน ได้แก่ เคลือบฟัน เนื้อฟันหรือเคลือบรากฟัน ในสภาวะปกติในช่องปากจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุแคลเซียมกับฟอสฟอรัสในน้ำลายเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างสมดุล แต่ในภาวะที่จุลินทรีย์ย่อยสลายอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่ติดอยู่ตามซอกฟัน ก็จะเปลี่ยนให้สภาพแวดล้อมของน้ำลายกลายเป็นกรด ทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุเสียความสมดุล ฟันจะสูญเสียแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้แก่สภาพแวดล้อมมากกว่าได้รับคืน หากกระบวนการนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะทำให้เกิดฟันผุในที่สุด


 



เมื่อฟันเริ่มผุ ควรทำอย่างไร?



เมื่อมีฟันบางซี่ผุแล้วก็ไม่ต้องตกใจ เมื่อฟันเริ่มผุมักจะเกิดอาการ "เสียวฟัน" เสียวไปนานๆ ก็จะปวดฟันได้ หากรู้สึกเสียวฟันแล้วต้องเริ่มต้นแก้ไขอาการเสียวฟันก่อน หากเสียวฟันโดยที่ตัวฟันยังไม่มีรอยผุ ยาสีฟันที่โฆษณาว่าสามารถลดอาการเสียวฟัน ก็สามารถช่วยได้บ้าง แต่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากอาการเสียวฟันยังไม่หายไป ต้องลองไปตรวจฟันดู หากเสียวฟันบริเวณคอฟัน อาจเป็นเพราะฟันสึกหรือมีรอยผุ สามารถรักษาได้โดยการอุดฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม แต่หากอุดฟันแล้ว ยังมีอาการปวดฟันหนักกว่าเดิม แสดงว่ามีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันแล้ว



ฟันของคนเราจะมีโพรงประสาทฟันอยู่ตรงกลาง เหมือนไส้ของผลแอปเปิ้ล ถ้าเชื้อโรคมากับน้ำลายสามารถเล็ดลอดตามรอบผุเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็นแอบเข้าไปติดเชื้อในรากฟัน จะทำให้เกิดอาการอักเสบ มีอาการปวดฟัน


 



ทางเลือกของคนที่ปวดฟัน?



เมื่อฟันมีอาการปวดมาถึงขั้นดังกล่าวแล้ว เรามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ 1.การถอนฟัน และ 2.การรักษารากฟัน เพื่อเก็บคงฟันไว้ใช้ต่อไป ถ้าตัดสินใจจะถอนฟัน ต้องทำใจล่วงหน้าว่าบริเวณที่ถูกถอนออกไปจะกลายเป็นเหงือกโล่งๆ รอสำหรับการใส่ฟันปลอมต่อไป ยิ่งถ้าเป็นการถอนฟันด้านหน้า คงต้องยิ่งคิดหนัก เพราะเวลายิ้มฟันหล่อแย่เลย แต่หากตัดสินใจว่าจะเก็บฟันไว้ ก็ต้องรักษารากฟันเท่านั้น


 



รักษารากฟันทำอย่างไร?



กระบวนการรักษารากฟันต้องใช้เวลารักษาหลายครั้ง และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการถอนฟัน ตรงจุดนี้จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับทันตแพทย์ให้เข้าใจตรงกันว่า ต้องรักษากี่ครั้ง แต่ละครั้งสามารถแบ่งจ่ายค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ และมีขั้นตอนการรักษาอย่างไรบ้าง



การรักษารากฟันนั้น เริ่มจากการเอ็กซเรย์ฟัน เพื่อประกอบการรักษาในแต่ละครั้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ในแต่ละขั้นตอนการรักษาต้องมีการฉีดยาชา แต่เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ คนไข้อาจรู้สึกปวดระบมเล็กน้อยในช่วง 2 - 3 วันแรก ดังนั้น ภายหลังการรักษาจึงต้องทานยาแก้ปวด แต่หลังจากเสร็จการรักษาทุกขั้นตอนแล้วและไม่มีอาการผิดปกติ อาการปวดฟันควรหายไป สามารถใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติ เพราะการรักษารากฟัน คือ การกำจัดประสาทฟันอักเสบ ที่เป็นสาเหตุของอาการปวดฟันออกไปแล้ว


 



เมื่อรักษารากฟันแล้ว ควรทำอย่างไร?



เมื่อรักษารากฟันเสร็จแล้ว ควรมีการรักษาต่อด้วยการครอบฟัน เพื่อรักษาเนื้อฟันให้คงทนแข็งแรง สามารถใช้งานได้อีกนาน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความ เมื่อรักษารากฟันและครอบฟันแล้ว ฟันซี่ดังกล่าวจะคงทนไปตลอด เพราะเรายังต้องรับประทานอาหารทุกวัน ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดี ก็สามารถเกิดฟันผุซ้ำได้อีก ดังนั้น จึงแนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน


 


 


การแปรงฟันอย่างถูกวิธิ กันฟันผุ



การป้องกันฟันผุ ต้องดูแลอนามัยในช่องปากให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ วิธีง่ายๆ คือ การแปรงฟันด้วยยาสีฟันทั่วไปครั้งละประมาณ 2 นาที หากแปรงฟันแล้ว ทำไมยังเกิดฟันผุอีก ก็ต้องพิจารณาว่า เราแปรงฟันนานพอหรือไม่ เป็นการแปรงฟันแบบผ่านๆ ถูไปมาแค่ 2 วินาทีหรือไม่



เราควรพยายามฝึกใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันให้นานขึ้น ทุกซอกทุกมุมวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง จากนั้น ควรใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดซอกฟันด้วยทุกครั้ง



**********************
 
ที่มา นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับที่ 100 เขียนโดย ทพญ.นิธิมา เสริมสุธีอนุวัฒน์ ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร
(ติดต่อ "ฉลาดซื้อ" ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2248-3734-7 โทรสาร 0-2248-3733 อีเมล webmaster@consumerthai.org)








เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์