มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่าทำไมคนเราจึงหาว แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า การหาวเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายที่สั่งการโดยสมอง อาจเนื่องมาจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะนั้น จึงเกิดอาการหาวขึ้นเพื่อปรับตัว
การหาว เป็นการหายใจลึกๆ เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปในร่างกายให้มากขึ้น ร่างกายของเราจะต้องการออกซิเจนมากขึ้นเมื่อเรารู้สึกง่วงหรือเหนื่อย สมองของเราจะสั่งให้หาวเพื่อที่จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ที่มีออกซิเจนเข้าไปได้อย่างเต็มที่
การหาวยังเป็นการเพิ่มระดับการตื่นตัว โดยเฉพาะเวลาที่มีความเครียดหรือความกดดัน ซึ่งทำให้อธิบายได้ว่า เหตุใดนักกีฬาที่กำลังจะลงแข่งขัน หรือนักเรียนที่กำลังจะเข้าห้องสอบจึงหาว
หากไม่อยากหาวบ่อยๆ ควรหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เคร่งเครียด หลีกเลี่ยงจากมลพิษ และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาการหาวก็จะค่อยๆ ลดลง
แต่หากทำแล้วยังไม่ได้ผล ยังหาวอยู่บ่อยๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 30 ครั้ง แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย เพราะการหาวบ่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือระบบทางเดินหายใจ
“ทำไมเราจึงหาวตามกัน”
กิริยาอาการบางอย่างของคนเราสามารถเกิดขึ้นตามๆ กันได้ เช่น เมื่อคนหนึ่งหัวเราะขึ้นมา คนอื่นก็อยากหัวเราะบ้าง อาการหาวก็เช่นกัน เมื่อคนหนึ่งอ้าปากหาว น่าแปลกที่คนอื่นมักจะหาวตาม
สัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เช่น แมว สุนัข ก็หาวได้เช่นกัน โดยเป็นการหาวตามสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดจากวิวัฒนาการที่ถ่ายทอดสืบกันมา แต่สำหรับคน ชิมแปนซี และลิงกัง จะมีอาการหาวตามกันเมื่อเห็นหรือคิดว่าคนอื่นหรือสัตว์ตัวอื่นหาว
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยสงสัยเช่นกันว่า ทำไมการหาวจึงเป็นอาการที่ติดต่อถึงกันได้ ซึ่งจากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การหาวตามกันอาจมาจากความต้องการในการแสดงอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น
ดร.อาสึชิ เซนจุ จากวิทยาลัยเบิร์กเบ็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน และนักวิจัยจากญี่ปุ่น ร่วมกันศึกษาอาการหาวตามกันในกลุ่มเด็กธรรมดาและเด็กออทิสติก และพบว่าเด็กออทิสติกจะไม่หาวตามกัน
รายงานการศึกษาเรื่องนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Biology Letters ดร.เซนจุ กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า การหาวตามกันไม่เกิดกับเด็กออทิสติก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองอาจเป็นการสกัดกั้นอาการหาวตามคนอื่น
ทั้งนี้ ออทิสซึ่มเป็นความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถมีความผูกพันทางอารมณ์กับผู้อื่น
การศึกษาที่พบว่าเด็กออทิสติกหาวตามสัญชาตญาณ แต่ไม่หาวตามคนอื่น จึงบ่งชี้ได้ว่าการหาวตามกันอาจมีสาเหตุมาจากความต้องการแสดงอารมณ์ร่วม
“ความเชื่อเกี่ยวกับการหาว”
ฝรั่งในสมัยโบราณเชื่อว่า การหาวทำให้วิญญาณออกจากร่าง ดังนั้นเวลาหาวจึงต้องเอามือปิดปากไว้ เพื่อไม่ให้วิญญาณหนีไป
ที่มาของความเชื่อนี้ก็เนื่องมาจากในสมัยก่อนเด็กเกิดใหม่มักจะเสียชีวิต เพราะวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน เมื่อสังเกตเห็นเด็กหาวทันทีที่เกิด จึงเข้าใจว่าการหาวทำให้เสียชีวิต ซึ่งอันที่จริงสามารถอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติที่เด็กจะสูดเอาออกซิเจนเข้าปอด
ในสมัยนั้นจึงมีคำแนะนำให้แม่นั่งเฝ้าลูกน้อยเป็นพิเศษในช่วงเดือนแรกๆ หลังคลอด เพื่อคอยปิดปากลูกเวลาหาว เพราะเด็กยังปิดปากตัวเองไม่ได้ ความเชื่อดังกล่าวจึงกลายมาเป็นมารยาทในการหาวจนถึงปัจจุบัน
มารยาทอีกอย่างหนึ่งของการหาวที่อาจพบเห็นได้ ก็คือ การหันหน้าไปทางอื่น หรือแม้แต่การกล่าวคำขอโทษออกมาหลังจากหาว
ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อคนสมัยโบราณสังเกตเห็นว่าเมื่อคนหนึ่งหาว คนที่อยู่ใกล้ๆ ก็มักจะหาวตามกัน ดังนั้นหากการหาวเป็นอันตรายต่อผู้หาว อันตรายนี้ย่อมติดไปถึงผู้อื่นด้วย เวลาหาวจึงหันหน้าหนีเพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น ส่วนการขอโทษก็เป็นเสมือนการแสดงความเป็นมิตรกับยมทูตที่จะมาพรากวิญญาณไปนั่นเอง