เนเจอร์/เอเอฟพี - นักวิจัยเผยข่าวดีเกี่ยวกับการต่อสู้กับโรคเอดส์ โดยบอกว่า พวกเขาค้นพบจุดสำคัญบนตัวไวรัสเอชไอวี ที่เป็นความหวังว่าจะผลิตวัคซีนประเภทสร้างแอนติบอดี มาต้านไวรัสดังกล่าวได้
รูปถ่ายอะตอมชี้จุดอ่อน HIV หวังช่วยพัฒนาวัคซีนเอดส์ถูกทาง
เชื้อเอชไอวี (HIV) นั้นกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
เนื่องจาเชื้อเอชไอวี (HIV) นั้นกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และยังมีเปลือกป้องกันหลายชั้น ไวรัสตัวนี้จึงเป็นศัตรูตัวร้ายที่สุดเท่าที่ผู้ค้นคว้าวิจัยวัคซีนเคยประสบพบเจอ ความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันตามวิธีดั้งเดิมซึ่งมุ่งที่จะทำให้ร่างกายของผู้รับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ปรากฏว่าเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะไวรัสนี้มีการเปลี่ยนแปลงยีนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
เมื่อวิจัยได้แอนติเจน (สารก่อภูมิคุ้มกัน) ขึ้นมา พอนำเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดี ก็จะต้านไวรัสไม่ได้ผล เนื่องจากไวรัสในชีวิตจริงได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ยิ่งกว่านั้นไวรัสเอชไอวียังมีชั้นโมเลกุลน้ำตาลที่ป้องกันไม่ให้แอนติบอดีเข้าไปในตัวมัน และกันไม่ให้ตัวมันเข้าไปตกอยู่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันได้ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้วัคซีนต้นแบบเอดส์แว็กซ์ (AIDSVAX) ใช้ไม่ได้ผล ทั้งที่วัคซีนตัวดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยอันยาวนานและมีค่าใช้จ่ายสูงมาแล้วถึง 3 ขั้นตอน
หลังประสบความล้มเหลวเช่นนี้ นักวิจัยวัคซีนต้านเอดส์เกือบจะเลิกใช้แอนติบอดี ในปัจจุบัน จุดสนใจสำคัญมุ่งไปอยู่ที่การกระตุ้นที เซลล์ (T cell) เซลล์ที่ทำหน้าที่ตอบสนองทางด้านเซลล์ เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือจุลชีพ โดยหวังให้ทีเซลล์จดจำและเข้าทำลายไวรัสเอชไอวี แต่วิธีนี้อาจดูโต้แย้งได้ว่าเป็นการรักษามากกว่าเป็นการให้วัคซี แต่ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ รายงานไว้ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ของอังกฤษว่า พวกเขาได้ถ่ายรูปขยายถึงระดับอะตอมของบริเวณสำคัญที่อยู่บนปลายเดือยของไวรัสเอชไอวี ที่เรียกว่า "ไกลโคโปรตีน 120" ( glycoprotein 120) หรือ gp120 ซึ่งมีความเสถียรและไม่กลายพันธุ์ หรือเรียกได้ว่า เป็นเป้านิ่ง
และยิ่งเป็นการดีไปกว่านั้น
พวกเขาพบแอนติบอดี b12 ที่สามารถจดจำบริเวณดังกล่าวบน gp120 ได้ โดยที่แอนติบอดี b12 นี้ พบได้ในเลือดของคนที่ร่างกายสามารถต้านทานเชื้อเอชไอวีได้นาน ถ้าแอนติบอดีเข้าจับไวรัสได้แล้ว มันจะไประงับฤทธิ์ของไวรัส ซึ่งกระบวนการของมันก็คล้ายๆกับการแปะหมากฝรั่งลงบนปลายลูกกุญแจ อันทำให้ลูกกุญแจไม่สามารถเข้าไปในตัวแม่กุญแจได้ นอกจากนี้ แอนติบอดียังสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่เหลือให้เข้ามาช่วยทำลายเชื้อโรคด้วย
"เป้าหมายสำคัญของเราข้อหนึ่งก็คือ การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสเอชไอวีที่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีที่ทำให้เชื้อหมดฤทธิ์ได้อย่างกว้างขวาง" แกรี นาเบล (Dr Gary Nabel) สถาบันโรคด้านภูมิแพ้และการติดเชื้อ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ผู้เขียนร่วมในงานวิจัยดังกล่าว เผย
"โครงสร้างพื้นที่บนผิวหน้าของ gp120 และความอ่อนแอต่อการจู่โจมจากแอนติบอดีที่เข้าไประงับฤทธิ์ ทำให้เราเห็นว่ามีบริเวณสำคัญบนตัวไวรัสที่อ่อนแอ ซึ่งเราอาจสามารถเล่นงานมันด้วยวัคซีน"
"แน่นอนนี่เป็นข่าวดีที่สุดข่าวหนึ่งที่มีมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้" คำกล่าวของ เวย์น คอฟฟ์ (Wayne Koff) นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าจากโครงการริเริ่มวัคซีนเอดส์สากล (IAVI) ซึ่งเป็นผู้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า หนทางใหม่ๆที่มีความหวังได้เปิดขึ้นแล้ว
"งานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยถึงสิ่งที่น่าจะเป็นความอ่อนแอของไวรัสเอชไอวี ทำให้มีแนวทางสำคัญในการพัฒนาแนวความคิดวัคซีนใหม่ๆ" คอฟฟ์กล่าวกับเอเอฟพีทางอีเมล
"มันเป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ชี้ว่า วัคซีนป้องกันเอดส์ที่มีประสิทธิภาพ มีทางเกิดขึ้นได้" คอฟฟ์กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ