สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศตามพระบรมราโชบายของพระบรมชนกนาถ ที่จะทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปทรงศึกษาวิชาการต่างๆในทวีปยุโรป เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองในขณะนั้น
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงได้อภิเษกกับนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี ประสูติในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 แต่หลังจากนั้นเพียง 1 วันคือวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร รวมพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา รวมเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา
ถึงแม้พระองค์ท่านจะทรงครองราชย์สมบัติเพียง 15 พระพรรษา แต่พระองค์ท่านก็ทรงได้พัฒนาประเทศเพื่อเป็นรากฐานแห่งความเจริญ ไว้หลายทางไม่ว่าจะเป็น
ด้านการศึกษา ทรงริเริ่มการสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล อันได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้สถาปนาเป็น โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย อีกทั้งยังโปรดให้ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพ.ศ. ๒๔๕๙ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยมี ๔ คณะ ในขณะนั้น คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังทรงตราพ.ร.บ.ประถมศึกษาขึ้น ในพ.ศ. ๒๔๖๔ นับเป็นครั้งแรกในประวัติการศึกษาไทยที่มีกฎหมายค้ำประกันความมั่นคงในการจัดการศึกษาในระดับนี้ โดยมีสาระสำคัญคือให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีบริบูรณ์เรียนหนังสือในโรงเรียนจนถึง ๑๔ ปีบริบูรณ์ นอกจากนี้ยังได้ทรงตรา พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อควบคุมการดำเนินงานด้านการศึกษาของเอกชนให้มีประสิทธิภาพ
ทางด้านเศรษฐกิจ ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งคลังออมสินขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖ เพื่อฝึกให้ราษฎรรู้จักประหยัดเก็บสะสมทรัพย์และนำเงินไปฝากไว้อย่างปลอดภัย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นธนาคารออมสินในปัจจุบัน และยังทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้นในปีเดียวกัน ด้วยทรงเห็นการณ์ไกลว่าต่อไปประเทศชาติต้องใช้ซิเมนต์ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก
ทางด้านการปกครอง ทรงริเริ่มใช้ธงไตรรงค์ แทนธงช้างเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นต้นมา รวมทั้งได้เปลี่ยนคำเรียกชื่อ “เมือง” เป็น “จังหวัด” แทน และในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้ตรา พ.ร.บ.นามสกุลขึ้น นับเป็นการเริ่มต้นที่คนไทยมีนามสกุลใช้ โดยทรงพระราชทานนามสกุลแก่ผู้มาขอไปทั้งหมด ๖,๔๓๒ นามสกุล นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มและเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสากลอีกหลายประการ เช่น เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราช ในราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก พร้อมทั้งให้ใช้คำว่า “ไชโย” แทนคำว่า “โห่ฮิ้ว” เปลี่ยนคำนำหน้าเด็กและสตรี โดยสตรีโสดให้ใช้คำว่า “นางสาว” นำหน้าชื่อ หากแต่งงานแล้วให้ใช้ “นาง” เพื่อสอดคล้องกับ “นาย”ของฝ่ายชาย รวมทั้งคำว่า”เด็กหญิง เด็กชาย” ที่สำคัญคือ ได้โปรดให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ขึ้นไว้เป็นหลักปฏิบัติ เมื่อพ.ศ.๒๔๖๗ เพราะก่อนหน้านั้นมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน สุดแต่พระเจ้าแผ่นดินที่จะสวรรคตจะมอบราชสมบัติให้ผู้ใด
ทางด้านวรรณกรรม พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงโปรดงานด้านวรรณกรรมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังนั้น พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านจึงมีอยู่เป็นจำนวนมากและมีทุกประเภท เช่น โขน ละคร พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท เทศนา นิทานบทชวนหัว สารคดี คำประพันธ์ร้อยกรอง บทความในนสพ. และยังมีพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษหลายเรื่อง ทรงมีพระนามแฝงหลายพระนาม อาทิ ศรีอยุธยา รามจิตติ พันแหลม อัศวพาหุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้โปรดให้จัดตั้ง “วรรณคดีสโมสร” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการแต่งหนังสือชั้นดี และพระราชทานรางวัลให้เป็นกำลังใจ ทำให้เกิดนักกวีสำคัญๆในรัชสมัยพระองค์ท่านหลายคน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาอนุมานราชธน นายชิต บุรทัต เป็นต้น
จากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่เป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ จึงทรงได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติคุณด้วยพระสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า” ซึ่งหมายถึง มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ และองค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศยกย่องพระองค์ท่านเป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิด ในวันพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ที่ผ่านมา1
จวบจนวันนี้ ในโอกาสที่วันวชิราวุธได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 เราประชาชนชาวไทยสามารถร่วมแสดงความรำลึกถึงพระองค์ท่าน เพื่อเทิดพระเกียรติและตระหนักถึงพระมหากรุณาธิของพระองค์ท่านได้ โดยการถวายพระพรชัยมงคลพระบรมราชานุเสาวรีย์ บริเวณหน้าสวนลุมพินี หรือแสดงความจงรักภักดีด้วยความกตัญญูกตเวที รักษาสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศชาติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมสืบไป
ขอขอบคุณบทความจากhttp://www.vcharkarn.com/varticle/39857