![แนะนำหนังสือ 3 แบบ ที่ทุกคนต้องอ่าน](img5/72286.jpg)
แนะนำหนังสือ 3 แบบ ที่ทุกคนต้องอ่าน
![แนะนำหนังสือ 3 แบบ ที่ทุกคนต้องอ่าน](img5/72286.jpg)
นักธุรกิจ สื่อมวลชน และคนรุ่นใหม่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่าน ในการเสวนาหัวข้อ "การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในองค์กร" ในงาน "ฉลองครบรอบ 40 ปี เอเซียบุ๊คส"
โดย นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ในฐานะสื่อมวลชน "ศิริลักษณ์ ไม้ไทย" รองกรรมการผู้จัดการ ดิ เอ็มโพเรี่ยม ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ และ "ลีลา สุนทรวิเนตร์" ลูกสาวคนสวยของพิธีกร "วิทวัส สุนทรวิเนตร์" ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่านที่แตกต่างกัน "จุดเริ่มต้นที่แตกต่างแต่มีจุดหมายเดียวกัน"
ในมุมมองของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแถวหน้าเมืองไทยมองว่าการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเพื่อการพัฒนาตัวเอง "ศิริลักษณ์" เล่าถึงประสบการณ์การอ่านหนังสือตั้งแต่สมัยเด็กๆ ว่า อยากให้พ่อแม่เห็นว่าขยันจึงต้องอ่านหนังสือ เรียกว่า "การอ่านเฉพาะหน้า" หรือ "อ่านเพราะต้องอ่าน" ไม่ใช่รักการอ่านหรือหนอนหนังสือ จนกระทั่งเรียนจบหนังสือก็ไม่ใช่สิ่งที่รัก แต่เมื่อมาทำงานรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเราต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องที่ทำงานรวมทั้งลูกที่บ้านด้วย เมื่อได้อ่านหนังสือมากขึ้นจึงรู้สึก "รักการอ่าน" ขึ้นมาเพราะนำไปใช้ได้จริงเรียนรู้ที่จะอ่านเพื่อตัวเองไม่ได้อ่านเพื่อให้คนอื่นเห็น
ผู้บริหารก็ต้องดูดีในสายตาลูกน้องทุกๆด้านทั้งความรู้ ความสามารถไม่เว้นแม้แต่เรื่องคุณธรรม การอ่านจะเป็นตัวเสริมคุณสมบัติเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นและสมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง และครอบครัว ซึมซับวัฒนธรรมการอ่าน ขยับไปจนถึงระดับองค์กร และต่อไปถึงระดับประเทศ
"หนังสือยังกลายมาเป็นของขวัญวันเกิดลูกๆหลานแทนที่จะให้ของเล่นก็เลือกหนังสือเขาซึ่งคนได้รับจะรู้ว่าเราตั้งใจให้"
"ศิวลักษณ์" แนะนำว่า สร้างบรรยากาศการอ่านด้วยการจัดมุมหนังสือไว้ในบ้านให้เด็กๆสะสมหนังสือ การอ่านหนังสืออย่างเร่งรีบให้อ่านไปเรื่อยๆเป็นการผ่อนคลายให้หยุดใช้เวลา ซึ่งการศึกษาสมัยนี้สนับสนุนให้รักการอ่านอย่าบังคับแต่ใช้การบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านว่าเขาสามารถนำเนื้อหาที่ได้อ่านมาใช้ประกอบการดำเนินชีวิตได้
"มองหาตัวเองให้เจอ ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นสิ่งดีๆ ขอเป็นคนอ่านเริ่มต้นเพื่อแบ่งบันคนอื่นได้อ่านด้วย"
![แนะนำหนังสือ 3 แบบ ที่ทุกคนต้องอ่าน](img5/72288.jpg)
สำหรับเด็กที่ถูกสร้างนิสัยการรักการอ่านมาตั้งต้นอย่าง "ลีลา" ได้แรงสนับสนุนจากพ่อในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่แรก เริ่มจากหนังสือรูปภาพ หนังสือเด็ก และอ่านมาเรื่อยๆ จนกระทั่งไปเรียนต่อที่ต่างประเทศหนังสือก็เป็นเพื่อนแก้เหงาได้ดีที่สุด เวลาที่คิดถึงเมืองไทยจะมีหนังสือภาษาไทยพกติดตัวไปด้วยตลอดเวลา แม้ว่าพ่อจะสนับสนุนและพยายามหาหนังสือมาให้อ่าน แต่พ่อไม่เคยบังคับว่า ต้องอ่านอะไร เล่มไหน พ่อจะใช้วิธีเล่าเรื่องให้ฟังว่าเล่มไหนน่าอ่านบ้าง แทนที่จะบังคับใช้วิธีการปลูกฝังดีกว่า
ในมุมมองของตัวแทนคนรุ่นใหม่มองว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองต้องทำคือสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกๆ อย่าตามใจเด็กปล่อยให้ใช้อินเตอร์เน็ตจนเคยตัว บางครั้งมันอาจจะรวดเร็วในการค้นหาข้อมูลจาก "วิกิพีเดีย" แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียน ถ้ายอมเสียเวลาไปค้นหาจากห้องสมุดอ่านหนังสือจะดีกว่า เมื่อไรที่รู้จักค้นคว้าและแสวงหาความรู้แล้วความเป็นอัจฉริยะจะตามมาเองหรือ "อัจฉริยะฝึกฝนได้"
แม้จุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เด็กๆ แต่มันก็เป็นแค่ "บทแรก เล่มแรก แต่พออายุ 40 ปี ต้องมีอะไรที่เข้มข้นกว่าเดิม แต่ไม่หยุดเท่านี้ จะอ่านต่อไปเรื่อยๆ"
"สมเกียรติ" เล่าถึงประสบการณ์อ่านที่มีเรื่องฐานะเข้ามาเกี่ยวข้องว่า เป็นเศรษฐีตกยากโชคดีที่ยังมีมรดกสมัยที่พ่อแม่รุ่งเรืองตกทอดมาบ้าง มรดกที่ว่าคือหนังสือเก่าๆที่เหลือจากนำไปพับถุงกระดาษขายแล้ว สมัยก่อนบ้านยากจนไม่มีไฟฟ้าใช้โทรทัศน์ก็ไม่มี กิจกรรมที่ทำได้ตอนนั้นก็มีแค่การอ่านหนังสือ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเรื่อยๆมา ประกอบกับพี่ๆก็เป็นหนอนหนังสือ จึงมีหนังสือให้เลือกอ่านมากมายหลายแบบ ทั้งเรื่องสั้น หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
สำหรับคนไทยแล้วการสร้างนิสัยรักการอ่านยังเกิดขึ้นไม่เต็มที่ จึงอยากแนะนำว่า
มีหนังสือ 3 แบบที่ทุกคนต้องอ่านคือ
1. หนังสือที่คนทั่วโลกเขาอ่านกัน อย่างน้อยจะได้รู้สึกภูมิใจว่าคนดัง นักปราชญ์ต้องอ่าน
2. หนังสือที่คนไทยควรอ่าน พวกงานวิจัยหรือที่อาจารย์แนะนำ
3. อ่านตามใจ หนังสืออะไรก็ได้ที่อยากอ่านเพราะเราไม่สามารถอ่านหนังสือทุกเล่มบนโลกนี้ได้
แต่ "กระแส" เป็นวิธีหนึ่งในการดึงดูดให้คนสนใจอ่านหนังสือ
ในฐานะสื่อมวลชนมองว่าไม่มีกระบวนการทางสังคมที่ทำร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการรักการอ่าน ทุกอย่างต้องเริ่มจากครอบครัวพวกเราจะไปหยุดที่หน้าจออินเตอร์เน็ตไม่ได้ บางครั้งครูอาจจะต้องบังคับให้เด็กอ่านพวกวรรณกรรมเพื่อทำให้ใช้ภาษาไทยได้ดี และสื่อมวลชนเองก็ควรอ่านหนังสือให้มากเพื่อจะได้ฝึกการเขียนใช้ภาษาได้ดี หรือ บางเรื่องอาจจะยากเกินไปเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงของกลุ่มอาชีพหนึ่งๆ หากไม่ได้ทำงานแบบนั้นไม่ต้องอ่านแต่เลือกอ่านอย่างอื่นแทนได้