โรคหัวใจและหลอดเลือดครองสถิติ 1 ใน 3 อันดับโรคร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เตือนคนเมืองวัย 40 ปีขึ้นไป กินดีอยู่ดี ทำงานนั่งโต๊ะ ขาดการออกกำลังกาย เครียด โกรธง่าย โอกาสเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสูงกว่าผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร โรคหัวใจขาดเลือดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจในขณะนั้น สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวหรือมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย จึงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตันจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรือไม่รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
อาการที่พบมักแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น เจ็บกลางหน้าอก บริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย เจ็บแบบจุกแน่น คล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ มักเจ็บร้าวไปที่คอ ขากรรไกร หรือไหล่ซ้าย โดยมากมักจะมีอาการขณะออกกำลังกายหรือทำงาน และจะเป็นอยู่นานครั้งละ 2-3 นาที อาการจะดีขึ้นถ้าได้หยุดพัก หรืออมยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ บางรายอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาหารไม่ย่อย และบางรายอาจมีอาการใจสั่นหอบเหนื่อยร่วมด้วย ปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ให้ผลค่อนข้างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโดยการเดินออกกำลังกายบนสายพาน หรือการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ การฉีดสีดูตำแหน่งการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ หลังจากทราบผลแล้วแพทย์จะประเมินภาวะความรุนแรงของโรคและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่
1.การให้ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งชนิดอมใต้ลิ้น ยารับประทาน และการให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ
2.การให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกร็ดเลือดแข็งตัว เช่น แอสไพริน
3.การให้ยาลดการบีบตัวของหัวใจ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และลดการใช้ออกซิเจน
ในเบื้องต้น การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ควบคู่ไปกับการรักษาทางยาส่วนใหญ่มักได้ผลดี แต่ในกรณีที่มีภาวะรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด เพื่อให้เลือดเดินทางอ้อมผ่านจุดที่อุดตันโดยใช้เส้นเลือดที่บริเวณแขนหรือขา