ปวดฟัน…ฟันปวด จริงหรือ

ปวดฟัน…ฟันปวด จริงหรือ


อาการ "ปวดฟัน" เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แทบจะทุกคนคงเคยรู้สึก "ปวดฟัน" มาแล้ว มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป เมื่อไรก็ตามที่มีอาการปวดเกิดขึ้น ก็ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข จะกินก็ไม่ได้เต็มที่ จะนอนก็ไม่สนิทดี เป็นที่น่ารำคาญ จนถึงขั้นทุกข์ทรมานได้ในบางคน ทันตแทพย์มักเป็นบุคลากรที่คนเหล่านี้จะหันหน้าเข้าหาเพื่อพึ่งพาให้ช่วยทำให้หายจากอาการ "ปวดฟัน" ที่ประสพอยู่ เพื่อที่จะได้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขดังเดิม แต่…ที่รู้สึกกันว่า "ปวดฟัน" นั้น…มันเกิดจาก "ฟันปวด"จริงหรือ???


การปวดบริเวณใบหน้าและช่องปากนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากฟันและเหงือกหรืออวัยวะรองรับฟันที่อยู่รอบ ๆ ฟัน (อวัยวะปริทันต์) เป็นสาเหตุหลัก แต่เชื่อหรือไม่ว่า…อาจมีอาการปวดที่ผู้ป่วยรู้สึกว่ามาจากฟัน ซึ่งอาจไม่ได้มีสาเหตุจากฟันก็ได้!!


ความรุนแรงของความเจ็บปวด มีรูปแบบต่าง ๆ มากมาย นับตั้งแต่ปวดเพียงเล็กน้อย จนกระทั่ง ปวดจนแทบทนไม่ได้ อาจปวดไปทั่วหน้า และบางครั้งอาจทำให้ปวดหัวได้ด้วย


การปวดที่ไม่ได้มาจากฟันพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็พบได้ไม่ยาก ความยุ่งยากสับสนของการปวดที่มิได้มีสาเหตุจากฟัน ก็คือ การเกิดการปวด ณ ตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่สาเหตุหรือแหล่งกำเนิดของอาการปวด หรืออาจเรียกว่า "การปวดต่างที่ " (Referred pain) กล่าวคือ ตำแหน่งที่ปวดกับแหล่งกำเนิดของอาการปวดเป็นคนละที่กัน นั่งเอง ซึ่งหากเราไปรักษาอาการปวด ณ ตำแหน่งที่ปวดโดยไม่ได้กำจัดสาเหตุ อาการปวดก็จะไม่หาย เรียกว่า รักษาไม่ถูกจุด หรือเกาไม่ถูกที่คัน นั่นเอง ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ปวดฟันกรามล่างด้านซ้าย แต่บอกแน่ชัดไม่ได้ว่ามากจากซี่ไหน จากภาพเอ็กซเรย์พบว่ามีฟันกรามซี่หนึ่งซึ่งมีถุงหนองปลายรากฟัน นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีฟันคุดด้วย สมมติว่า อาการปวดที่เกิดขึ้น มากจากฟันที่มีถุงหนอง แต่ถ้าทันตแพทย์รักษาโดยการผ่าฟันคุด อย่างนี้เรียกว่า รักษาไม่ถูกจุดอาการก็จะไม่ดีขึ้น แถมยังอาจปวดมากขึ้นจากแผลผ่าตัดอีกด้วย


บริเวณที่สามารถจะปวดได้ นอกจากปวดจากฟันกับเหงือกแล้ว ก็คือ แทบจะทุกที่บริเวณใบหน้าเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น หู คอ จมูก ไซนัส ข้อต่อขมับขากรรไกร เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ แต่ สาเหตุของความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและช่องปากที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง รองลงมากจากฟันและเหงือก ก็คือ ปวดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อนั่นเอง


อาการปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ มักลักษณะปวดตื้อ ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ลักษณะปวดตุบ ๆ เป็นระยะเหมือนปวดจากประสาทฟัน ในกล้ามเนื้อบดเคี้ยวที่มีการปวด มักจะมีจุดกระตุ้นความปวด (trigger points) อยู่ อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อที่มีจุดกระตุ้นนั้นทำงานมากขึ้น เช่น เมื่อเคี้ยวอาหาร จุดกระตุ้นในกล้ามเนื้อมักปวดเมื่อถูกกด และอาการปวดอาจลามไปยังบริเวณอื่นได้ การกระตุ้นที่จุดกระตุ้น จะทำให้เกิดการปวดต่างที่ไปยังฟันที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันได้ด้วย


เมื่อแหล่งกำเนิดของความปวดไม่ได้มาจากฟัน การรักษาทางทันตกรรมที่มุ่งเน้นไปที่ฟันหรืออวัยวะรอบ ๆ ฟัน ก็จะไม่ทำให้อาการปวดหายไปได้ หากมิได้มีการตรวจอย่างละเอียด และให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องถึงสาเหตุของความปวดแล้ว ผู้ป่วยอาจถูกถอนฟัน หรือได้รับการรักษารากฟันโดยไม่จำเป็น


ในการรักษาอาการปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อบดเคี้ยว สามารถใช้วิธีการใช้สเปรย์เย็น (Vapocoolant spray) พ่นไปยังกล้ามเนื้อบริเวณที่มีการปวด แล้วให้ผู้ป่วยอ้าปากกว้าง ซึ่งถือเป็นการยืดกล้ามเนื้อ จะสามารถช่วยให้อาการทุเลาลง และควรใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่ปวดด้วย การใช้ยานอนหลับประเภท diazepam หรือ valium ปริมาณ 5 มิลลิกรัม ก่อนนอน นานประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถให้ผลในการคลายกล้ามเนื้อได้ด้วย ทั้งนี้หากไม่มีปัจจัยร้าย ๆ อื่น ๆ เช่นการนอนกัดฟัน มาซ้ำเติมแล้ว อาการจะดีขึ้นภายใน 2สัปดาห์ แต่หากไม่หาย อาจต้องรับการรักษาต่อด้วย เฝือกสบฟัน (Occlusal splint) จากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป


อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว อาการปวดฟันมักมีสาเหตุมาจากฟันหรืออวัยวะปริทันต์เป็นหลัก แต่สาเหตุอื่นที่พบได้บ่อยที่ทำให้ปวดฟันได้อีกก็คือ จากกล้ามเนื้อบดเคี้ยว นอกจากนั้น ยังพบได้ว่า อาจปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น trigeminal neuralgia ซึ่งเป็นการปวดที่รุนแรงมาก การมีไซนัสอักเสบ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอาการปวดฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟันกรามบนเนื่องจากรากฟันอยู่ใกล้กับไซนัส หรือบางกรณี ก็เข้าไปอยู่ในไซนัสเลยก็เป็นได้ แต่การปวดที่จะทำให้สับสน และวินิจฉัยยากขึ้นไปอีก ก็คือ การปวดจากความผิดปกติของสภาพจิตใจ ผู้ป่วยประเภทนี้ มักจะบ่นปวดฟันซี่โน้นซี่นี้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ลักษณะการปวดไม่แน่นอน และมักตรวจไม่พบความผิดปกติที่ฟัน หากพบกรณีเช่นนี้ คงต้องปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วย


ข้อสังเกตว่าปวดฟัน…ฟันปวดจริงหรือเปล่า ก็คือ

  1. ตรวจไม่พบความผิดปกติชัดเจนที่ฟันหรืออวัยวะปริทันต์
  2. ไม่ได้ปวดแบบตุ๊บ ๆอันเป็นลักษณะเด่นของการปวดจากประสาทฟัน
  3. อาการปวดจะคงที่ อาจปวดอยู่นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
  4. ปวดฟันทีละหลาย ๆ ซี่พร้อมกัน เป็นขึ้นได้เองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น

สรุปได้ว่า…อาการปวดที่ฟัน ไม่จำเป็นจะต้องมีสาเหตุมาจากฟันเสมอไป หากแต่สามารถเกิดจากอวัยวะที่ใช้บดเคี้ยวได้ด้วย จึงไม่ควรมองข้ามสาเหตุอื่นๆ ควรให้ทันตแพทย์ตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


ที่มา thainakarin

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์