เมื่อเกิดมะเร็งที่ ... ปากมดลูก

เมื่อเกิดมะเร็งที่ ... ปากมดลูก



หากกล่าวถึงคำว่า “มนุษย์” ก็จะนึกถึงคำว่า “เพศ”
   
         “เพศ” ถูกแบ่งออกตามหลักการโดยทั่วไปจากอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งตั้งแต่คลอดออกมา แล้วอยู่รอดเป็นทารกได้ ก็ถือเป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว แต่กระบวนการอยู่รอดในช่วงเวลาที่เติบโตในแต่ละวัยนั้น มักไม่มีความคล้ายกันมากนักในแต่ละคนแต่ละเพศ
   
       ใน “เพศหญิง” หากได้รับชมหรือรับข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ จะพบว่า เพศหญิงเป็นเพศที่มักให้ความสำคัญกับโรคภัยมากกว่าเพศชาย ให้ความตระหนัก และระมัดระวังตัวเกี่ยวกับสุขภาพตนเองมาก ซึ่งนั่นเป็นผลดีในเรื่องการป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ แต่โรคร้ายบางโรค เช่น มะเร็งปากมดลูก ก็มักทำร้ายเพศหญิงได้โดยไม่รู้ตัว จะรู้ตัวเมื่อเกือบสายไปเสียแล้ว
   
มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคหนึ่งที่พบอุบัติการณ์การเกิดโรคได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อวัยวะสำคัญอย่างปากมดลูกเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของมดลูกที่อยู่ภายในช่องคลอด
   
         ตามรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2550 พบอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 24.7 ต่อประชากรเพศหญิง 100,000 คน มีผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 7,000 คนต่อปี และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่การตรวจพบเจอ จะอยู่ในระยะรุนแรงหรือระยะท้าย ๆ ของโรคแล้ว
   
ส่วนสาเหตุของโรคอย่างที่ทราบกันคือ เกิดจาก เชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus หรือ HPV) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ และแต่ละสายพันธุ์ก็ก่อให้เกิดโรคได้ต่างกัน ซึ่งสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อชนิด 16 และ 18 การรับเชื้อสามารถได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์
   
คำถามที่พบมากในห้องตรวจคือ ในผู้ชายส่วนใหญ่จะไม่มีอาการของโรค แต่จะมีเชื้อที่เมื่อผู้หญิงได้รับเชื้อนี้ก็จะมีอันตรายและทำให้เกิดโรคได้ง่าย เมื่อได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะเข้าไปบุกรุกยังเซลล์เยื่อบุผิวปากมดลูก และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ โดยในระยะเริ่มแรกการเปลี่ยนแปลงจะเกิดที่ระดับผิวเซลล์ เรียกว่า ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งจะไม่ค่อยมีอาการใด ๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจภายในและตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี แป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) หากตรวจพบได้เร็วก็    สามารถรักษาให้หายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ โดยในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกนี้จะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 10 ปีก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง
   
อาการของโรค หากเป็นในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ก็มักจะไม่มีอาการ อาจมีเพียงตกขาวผิดปกติ แต่เมื่อเป็นมะเร็งแล้วจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ กะปริดกะปรอยหรือมีเลือดออกมาก มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย ในระยะท้าย ๆ ของโรค  ผู้ป่วยจะมีอาการเนื่องจากมะเร็งได้มาก อีกทั้งเซลล์มะเร็งจะกระจาย   ไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการไอเป็นเลือด  ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด รวมทั้งมีอาการปวดกระดูก
      
สำหรับการวินิจฉัยโรค เมื่อแพทย์ตรวจพบรอยโรค แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูก เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งทางพยาธิวิทยา และทำการตรวจภายในเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบระยะของโรค และเริ่มต้นให้การรักษาตามระยะของโรคโดยเร็วที่สุด
   
         การรักษาโรคมะเร็งระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก และมีอัตราการรอดชีวิตสูง ส่วนมะเร็งระยะ อื่น ๆ จะเป็นการรักษาด้วยการฉายรังสีและให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
   
ทั้งนี้ มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการไปตรวจภายในว่า หากมีอาการผิดปกติดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว ไม่ควรเขินอาย ให้รีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์ หรือแพทย์ทางมะเร็งนรีเวชโดยเร็ว จำไว้ว่าหากตรวจพบโรคนี้ได้เร็วเท่าใด ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงมากขึ้น
   
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน มีวิธีดังต่อไปนี้

   
1.ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ไม่เคร่งเครียด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย
   
2.หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนมาก
   
3.ได้รับการตรวจภายในและตรวจเช็กเซลล์มะเร็งปากมดลูก โดยวิธีการตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 35-60 ปี หรือหลังมีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 2-3 ปี
   
4.วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันสามารถครอบคลุมเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ประมาณ 70% โดยจะมีประโยชน์สูงสุดในเด็กที่อายุมากกว่า 9 ปี ไปจนถึงวัยทำงานที่อายุ 26 ปี หรือในสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์
   
แต่ก็มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนทั้งก่อนและหลังนั้น มีวิธีการปฏิบัติตัวของแต่ละคนแตกต่างกัน จึงควรปรึกษากับแพทย์ให้เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับและการปฏิบัติเสียก่อน
   
นอกจากมะเร็งปากมดลูก กลุ่มโรคมะเร็งชนิดอื่นที่มักพบในเพศหญิงก็ยังมีเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งมดลูก ดังนั้น การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคต่าง ๆในผู้หญิง จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจให้มาก 
   

นพ.ภุชงค์  ลิขิตธนสมบัติ
หน่วยมะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์