เตือนกินปลาดิบมีสิทธิตาย ด้วยฤทธิ์เดชพยาธิตัวกลมตัวใหม่
"พบพยาธิตัวใหม่ในปลาดิบ"
เตือนอันตรายจากกินปลาดิบ พบพยาธิตัวใหม่ รักษาไม่ทันมีสิทธิถึงตาย แพทย์ มข.พบวิธีตรวจหาเชื้อโดยไม่ต้องพบตัวพยาธิ ช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น
รศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิแคปิลลาเรีย ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก หากวินิจฉัยไม่ทันอาจมีอันตรายถึงตายได้ ซึ่งจากรายงานการพบผู้ป่วยดังกล่าว จึงเป็นแรงจูงใจในการวิจัยพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าวขึ้น
รศ.พญ.ผิวพรรณ กล่าวว่า มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคพยาธิแคปิลลาเรีย เป็นระยะในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน เพราะนิยมบริโภคอาหารดิบๆ ที่ปรุงจากปลาเกล็ดน้ำจืด เช่น ปลาขาวนา ปลาสร้อย ปลาซิว โดยในปลาเกล็ดน้ำจืดดังกล่าวจะมีตัวอ่อนระยะติดต่อในลำไส้
"เพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว และมากมาย"
เมื่อกินแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ พยาธิจะฟักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยพยาธิตัวเมียที่อยู่ในลำไส้คนจะออกลูกได้ทั้งเป็นไข่และเป็นตัว ส่งผลต่อลำไส้เล็กของคนอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เซลล์บุผนังลำไส้เล็กสูญเสียหน้าที่ในการดูดซึมอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนและเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ
อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีลักษณะการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ เรื้อรังนานนับเดือน บางครั้งถ่ายอุจจาระวันละ 10-15 ครั้ง อุจจาระมีกากอาหารที่ไม่ย่อย มีไขมันลอย ท้องร้องโครกคราก โดยเฉพาะตอนกลางคืน ผู้ป่วยมักไม่มีไข้ ช่วงแรกรับประทานอาหารได้ดี แต่น้ำหนักตัวลดลงอาจถึง 10 กก. ในเวลาไม่กี่เดือน
ถ้ามีอาการรุนแรงจะพบภาวะซีด เบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม กล้ามเนื้อลีบ อ่อนเพลีย ใบหน้าบวม ท้องโต มานน้ำ ขา-เท้าบวมกดบุ๋ม บางรายความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะช็อก หากตรวจไม่พบพยาธิในอุจจาระ อาจถูกสงสัยว่าเป็นโรคไต ตับ หัวใจ เอดส์ หรือมะเร็งลำไส้ เนื่องจากมีอาการคล้ายกัน การวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า ทำให้รักษาไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ รศ.พญ.ผิวพรรณกล่าว.