กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคของชีวิตที่รีบเร่ง
ผมเชื่อว่าคนที่อ่านบทความนี้ส่วนหนึ่งต้องเคยเป็นโรคนี้กันมาแล้ว และมากกว่าครึ่งคงจะเป็นผู้หญิง
ที่จ่าหน้าเรื่องไว้เช่นนี้ก็เพราะว่า ปัจจุบันมีหลายเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้ก่อเกิดโรค โดยเฉพาะลักษณะการใช้ชีวิตแบบคนในเมือง ที่อะไรๆก็รีบไปหมด จนกระทั่งเราต้องตัดเวลาส่วนตัวต่างๆออกไป เช่นการนอน การกิน ไปจนถึงการขับถ่าย
กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้อง อยู่หลังกระดูกหัวหน่าว ถ้าไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ขอให้ลองเปิดกางเกงหรือกระโปรงออกดู กระดูกที่อยู่ใต้ต่อแนวบนของขน... นั่นแหละ ล่างต่อมันลงมาก็จะมีท่อปัสสาวะ ของผู้หญิงก็สั้นหน่อย ของผู้ชายก็ยาวขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง.......
กลไกในการทำงานก็มีอยู่ว่าเมื่อไตขับฉี่ออกมาแล้วลงมาออกันอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้สัก1/3ลิตร เราก็จะเริ่มปวดและอยากถ่าย หากอดใจไว้ก็จะรู้สึกผ่อนลง... ผ่านไปอีกระยะ ก็จะปวดอีก แล้วก็ผ่อนลงอีก เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อเราไปเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะก็จะขับออกมา
เนื่องจากร่างกายของเราในส่วนของไตเป็นโซนสะอาดปราศจากเชื้อ เรื่อยลงมาเรื่อยๆจนถึงปลายทาง ดังนั้นน้ำปัสสาวะจึงเป็นน้ำปราศจากเชื้อที่จะคอยไหลลงมาล้างเอาเชื้อโรคจากภายนอกที่คืบคลานมาตามท่อทางเดินปัสสาวะด้านนอก... วันใดที่มีอะไรเปลี่ยนไปที่ทำให้เชื้อโรคโดนขับออกช้าลง เช่นมีนิ่ว มีการอุดตัน ฉี่ไม่บ่อยพอ นั่นก็จะเป็นวันเริ่มต้นของการคืบคลานของเชื้อโรคและก่อโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั่นเอง.....และเนื่องจากช่องทางของชายยาวกว่าหญิงร่วมกับการหาที่ขับถ่ายง่ายกว่า ดังนั้น ผู้หญิงเลยเป็นโรคนี้บ่อยกว่าผู้ชาย
อาการ
อาการที่พบได้บ่อยเป็นอาการของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ได้แก่ ปวดปัสสาวะบ่อย เบ่งแล้วปวดขัด เวลาไปแล้วได้ปัสสาวะไม่มาก พอเบ่งจนหมดแล้วรู้สึกไม่สุด พอถ่ายสุดแล้วแสบ นั่นคืออาการคร่าวๆที่ใครๆเขาก็รู้กัน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้รู้ไว้คือ คนที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักมีอาการดังกล่าว แต่อาการดังกล่าวไม่ได้จำเพาะอยู่ที่โรคนี้โรคเดียว ยังมีอีกหลายโรค....ดังนั้นระวังไว้ถ้ารักษาไม่หายนานๆ.........
ข้อควรปฏิบัติ
1. ดื่มน้ำมากๆ วันละ 8-10แก้ว
2. ไม่กลั้นปัสสาวะนานๆ
3. ผู้หญิง เวลาเช็ดทำความสะอาดควรทำจากด้านหน้าไปทางด้านหลังเพื่อไม่ให้เชื้อจากอุจจาระมาปนเปื้อน
4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารซ้ำชนิดติดกันเป็นเวลานานๆ
เหมือนจะจบ แต่ยังไม่จบ เพราะที่ผ่านไปคือเนื้อหาแบบวิชาการ ต่อไปผมจะเริ่มพูดเรื่องปัญหาที่พบในการรักษา
1. ทำไมหมอถามอะไรมากมาย
ผมเคยรักษาคนที่มาตรวจที่ห้องฉุกเฉินด้วยเรื่องนี้ ประโยคแรกที่เขาพูดคือ “เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขอยา” เรื่องของเรื่องคือเขาเป็นทีไรก็ไปหาร้านขายยา แล้วก็ได้ยามาแบบนึง หลังจากนั้นครั้งต่อๆไปเขาก็ไปที่ร้านเดิมแล้วก็ซื้อยาเดิมๆมาใช้ อย่างมากก็แค่ถามว่าอาการอะไร แล้วก็จัดยามาให้
แต่ผมกลับถามว่าปวดที่ไหนปวดยังไงมีไข้ไหม ฯลฯ จนกระทั่งตัวคนไข้ไม่เข้าใจว่าจะถามทำไม... สุดท้ายผมส่งตรวจปัสสาวะโดยที่คนไข้ก็ค่อนข้างไม่พอใจว่าจะส่งไปทำไมก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอะไร... ในที่สุดกลายเป็นว่าคนไข้คนนี้เป็นนิ่ว (เลยอธิบายได้ว่าทำไมเป็นบ่อยและไม่หายสักที)
หลายทีถามแล้วตรวจแล้วก็เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบธรรมดา ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่านั้น บางทีก็โดนคนไข้โมโหว่าทำให้เสียเวลาเหมือนกัน... ดังนั้นอยากให้เข้าใจครับ ว่าเราไม่ได้ปักใจเชื่อว่าเป็นการอักเสบอย่างเดียว แต่เราต้องหาเหตุอื่นๆไว้บ้าง
2. ทำไมรักษาไม่หาย เลี้ยงไข้หรือเปล่า
หลายคนประสบปัญหาว่ารักษามาหลายครั้งไม่หายสักที ก็ขอยกตัวอย่างมาให้ดูกัน
คนแรก บ่นกับผมว่ามาหลายครั้งแล้วไม่หายสักที ผมลองเปิดย้อนประวัติดูเห็นว่าเป็นหลายครั้ง แต่ว่าแต่ละครั้งห่างกันนานเหมือนกัน ลองสอบถามกลับไป ถามไปถามมาในที่สุดก็รู้ว่าคนไข้คนนี้ยังไม่ปรับการใช้ชีวิต ก็ยังคงฉี่ไม่เป็นเวลา อั้นไว้นานๆเหมือนเดิม..... แบบนี้เรียกว่าหายแล้วแต่ไปทำให้เป็นซ้ำ
คนที่สอง มาถึงแล้วก็ขอยาพร้อมทั้งบอกว่าไม่หายสักที พอถามว่าได้ยาอะไรรักษายังไงบ้าง เธอก็หยิบซองยาที่มียาเหลืออยู่2เม็ด และบอกว่าขอยาตัวนี้เพิ่ม. อ๊ะ ยาเดิมทำไมไม่หมด. พอลองดูประวัติ ก็เลยรู้ว่าเธอเป็นมาหลายครั้ง หมอที่ดูคนสุดท้ายก็เลยต้องเพิ่มยาเป็นแบบ7วัน เธอก็กินซะ4วัน เห็นว่าไม่มีอาการก็เลยหยุดยาไปเองทั้งที่รู้ว่าต้องกินจนหมด พอเป็นรอบนี้ก็เลยเอามากินใหม่
ในการรักษา หากคนไข้เป็นมาหลายครั้ง ก็ต้องเพิ่มระยะเวลาการให้ยา เพราะเชื้อที่อยู่ก็มักจะมีความดื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งต้องเปลี่ยนยา และในที่สุดเชื้ออาจดื้อยาหลายๆชนิด (ยาใหม่ก็แพงขึ้นเรื่อยๆ เปลิองงบประมาณรพ. และเสียสุขภาพ)
เดี๋ยวนี้ผมก็ยังพบลักษณะแบบนี้อีก กับคนที่กินยาไม่ค่อยครบสักที จนกระทั่งรักษาไม่ค่อยหายซะแล้วเพราะเชื้อที่ออกมาดื้อยาไปหมด
คนที่สาม เป็นมาหลายครั้ง พอเริ่มเป็นครั้งที่สามก็เลยไปเอกซ์เรย์ เพื่อหาว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ก็ไม่พบลักษณะนิ่ว... แต่พอเป็นครั้งหลังๆ ก็มีลักษณะปัสสาวะที่เข้าได้กับการมีนิ่ว คนนี้ก็ได้รับการตรวจเพิ่มเติมจนรู้ว่าเป็นนิ่ว
นิ่วถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ที่จะเป็นแหล่งเกาะตัวของเชื้อโรคอย่างดี ทำให้ยาฆ่าเชื้อได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเมื่อเป็นมาหลายๆครั้ง หมอที่ดูแลก็อาจจะแนะนำให้เอกซ์เรย์เพื่อหาว่ามีนิ่วหรือไม่ (บางครั้งถึงมีก็ไม่เจอในx-rayเพราะว่า นิ่วมีทั้งประเภทที่เห็นในx-ray และไม่เห็นในx-ray)
ในทางกลับกัน คนที่หนึ่งและสองข้างต้น หากตนเองยังไม่อาจปฏิบัติตัวให้ดีพอได้แล้วมาขอให้ทำเอกซ์เรย์คอมฯ หรือเอกซ์เรย์หานิ่ว หากไม่เห็นความจำเป็นใดๆ หมอก็มักไม่ส่งตรวจครับ เพราะถือว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่ก็ทำให้เกิดโรคได้อยู่แล้วไม่ว่าจะมีนิ่วหรือไม่
3. ทำไมไม่มียาสลายนิ่ว
หลายครั้งผมจะได้รับการถามจากคนไข้ว่า ทำไมไม่จ่ายยาสลายนิ่วหรือยาล้างไตมาด้วย
ยาสลายนิ่วในที่นี้ไม่ได้เป็นยาสลายนิ่วแบบที่หมอเฉพาะทางโรคทางเดินปัสสาวะสั่งจ่ายให้ ...(พวก Rowatinex Uralyt …… อันนี้ไม่ได้โฆษณา เพราะผมไม่เคยสั่งจ่ายใครไป เคยแต่มีสัตวแพทย์สั่งจ่ายให้แมวตัวเอง) ยาล้างไตก็ไม่มีอยู่แล้วในทางการแพทย์
หากแต่ยาสลายนิ่วของคนทั่วไปหมายถึง “ยาขับปัสสาวะ” และยาล้างไตหมายถึง “ยาที่กินแล้วฉี่เป็นสีเขียว สีน้ำเงิน สีฟ้า สีม่วงฯลฯ” ไม่รู้ว่าเกิดอะไรเหมือนกัน บางครั้งมาโรงพยาบาลพร้อมด้วยความเชื่อที่ได้มาจากร้านค้าว่าการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบต้องใช้ยาสีๆเหล่านี้ หลายๆคนเมื่ออธิบายไปก็มักเล่ากลับมาว่า ‘แต่มี...... บอกมาว่าได้ผล’ ‘ปู่ย่าตายายใช้กันมาได้ผล หมอคงไม่รู้เท่าหรอก....’ อืม.....
สรุปว่าผมไม่นิยมวิชาเหล่านี้ครับ ไม่สั่งยาพวกนี้ให้ อยากได้ไปหาซื้อเอาเอง (ถ้าดีจริง ทำไมไม่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งที่ราคาถูกแสนถูกกันนะ)
4. ถ้าไม่ใช่โรคนี้แล้วเป็นโรคอื่นได้ไหม
ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่จะเกิดขึ้นหลังการรักษาครั้งที่3-4 อย่างที่บอกไว้ก่อนว่าอาการข้างต้น ไม่ได้เป็นอาการของการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะเพียงอย่างเดียว หากแต่มีโรคอื่นด้วย ดังนั้นหากรักษาอย่างถูกวิธีและมั่นใจว่าทำตัวได้ดีแต่โรคไม่หายและหมอยังไม่เอ่ยปากสงสัยว่าทำไมไม่หาย ก็ให้บอกหมอว่าคุณเป็นมาถี่ๆหลายครั้งแล้ว (บางครั้งเป็นมา5-6ครั้ง แต่ว่าหมอที่ดูแต่ละครั้งเป็นคนละคนกันหมด โดยเฉพาะในรพ.รัฐบาล) อย่าเพิ่งเปลี่ยนที่ที่รักษาในทันที
ปัญหาก็คือการเปลี่ยนที่รักษาบ่อยๆจะทำให้การรักษาทำได้ไม่ต่อเนื่องและยากขึ้น หมอคนที่ดูคุณเป็นคนถัดไปอาจจะไม่รู้ว่ายาที่เขากำลังสั่งจ่ายให้ เป็นยาตัวที่คุณเคยใช้แล้วไม่ได้ผล รวมทั้งข้อมูลที่จะบอกว่าเป็นโรคอื่นๆนอกเหนือจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือไม่ ก็จะหายไปทั้งหมด ทำให้หมอคนที่ดูแลคนต่อไปต้องมาเริ่มทุกอย่างที่ศูนย์ใหม่
ที่มา
fwmail