กล่องโฟใส่อาหารใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ภาพประกอบอินเตอร์เน็ตภาพประกอบอินเตอร์เน็ต


ความปลอดภัยของอาหารจากสารปนเปื้อนและสารพิษ เป็นสิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ แต่จุดที่มักถูกมองข้าม คือ การปนเปื้อนจากภาชนะบรรจุอาหารเอง อันตรายที่เกิดจากสารเคมีของภาชนะบรรจุอาหาร มักไม่ได้รับความสนใจ หรือเพิกเฉย เนื่องจากมิได้เกิดในทันทีทันใด แต่หากจะค่อย ๆ สะสม จนเกิดอันตราย ภาชนะบรรจุอาหาร หมายความรวมถึง วัตถุที่ใช้บรรจุอาหารไม่ว่าจะด้วยการใส่ห่อ หรือด้วยวิธีใด ๆ ให้หมายความรวมถึง ฝา หรือ จุกด้วย โดยอาหารแต่ละชนิดมีความต้องการภาชนะบรรจุแตกต่างกัน นอกจากนี้ภาชนะบรรจุต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย คือ ต้องเป็นภาชนะมีคุณภาพ สะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่มีสี หรือโลหะหนัก ออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่พลาสติกและโฟมถูกใช้แทนใบตอง กระดาษ โลหะหรือแก้ว ในการบรรจุอาหาร อาจเนื่องมาจาก พลาสติกและโฟม สามารถทำให้เกิดรูปทรงตามที่ต้องการได้ง่าย มีน้ำหนักเบาและราคาถูก จึงเป็นที่นิยมสืบต่อเรื่อยมา แต่จะมีผู้บริโภคสักกี่คนที่ตระหนักถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในภาชนะบรรจุที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกล่องโฟมมักถูกนำไปใช้ในการบรรจุอาหารที่ร้อนและมีน้ำมัน อาจทำให้เกิดอันตรายจากสารปนเปื้อนที่แยกตัวออกมาจากภาชนะบรรจุได้ ซึ่งชนิดของพลาสติกที่ใช้ในการทำภาชนะบรรจุได้แก่

1. โพลีเอทิลีน (Polyethylene- PE) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
(1) โพลีเอทิลินความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene – LDPE) หรือ เรียกว่าถุงเย็นมีคุณสมบัติ คือ ไขมัน ซึมผ่านง่าย
(‏2) โพลีเอทิลีนความหนาแน่นปานกลาง (Medium density polyethylene – MDPE)
(3) โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High density polyethylene – HDPE) หรือถุงร้อนสีขาวขุ่น

2. โพลีโพรพิลีน (Polypropylene – PP) เป็นถุงร้อนใส ใช้บรรจุอาหารที่ต้องผ่านความร้อนระดับฆ่าเชื้อได้ เป็นส่วนประกอบในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) บรรจุอาหารที่มีไขมันได้ในระยะเวลาหนึ่ง

3. โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (polyethylene terephthalate – PET) ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ นิยมใช้ทำถาดบรรจุภัณฑ์อาหารใช้ได้ทั้งกับเตาอบ และเตาไมโครเวฟ

4. โพลีไวนิล คลอไรด์ (polyvinyl chloride – PVC) ปัจจุบันผลิตให้มีสารตกค้างของไวนิล คลอไรด์ ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดมะเร็งตับได้ต่ำกว่า 1 ppm. จึงนับว่าปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหาร ทนต่อน้ำมัน กันกลิ่นได้ดี ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ไม่เกิน 920๐ ซ.

5. โพลีสไตรีน (polystyrene – PS) นิยมใช้ทำถ้วย ถาด แก้ว ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถาดโฟมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุชนิดนี้ เช่นกัน จะสังเกตได้ว่าถ้านำไปบรรจุของร้อนถาดโฟมจะหลอมละลายทำให้มีสารอันตรายออกมาปนเปื้อนในอาหารได้

ภาชนะบรรจุเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างคาดไม่ถึง หากไม่ตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกใช้ ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนสารอันตรายลงสู่อาหาร หรือเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างอาหารและภาชนะบรรจุ การเลือกใช้พลาสติก หรือโฟมต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร และเหมาะสมกับการใช้งาน เคยมีรายงานความเป็นพิษของอาหารที่เกิดจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสมอยู่หลายครั้ง เช่น มีครอบครัวที่ต้องได้รับพิษของตะกั่วทั้งครอบครัวเนื่องจาก การรับประทานน้ำส้มคั้นที่บรรจุในภาชนะพลาสติกที่มีสีสด ทำให้น้ำส้มซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดละลายเอาตะกั่วที่เจือปนที่ภาชนะลงสู่น้ำส้ม นอกจากนี้ในกล่องโฟมที่นำมาบรรจุอาหารที่ทอดร้อน ๆ และมีน้ำมันขึ้นจากเตาใหม่ ๆ เช่น ข้าวผัด ข้าวกระเพาไข่ดาว ผัดไทย หอยทอด เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถละลายสารบางชนิดออกจากกล่องโฟม และปนเปื้อนสู่อาหารได้ โดยปกติกล่องโฟมเมื่อได้รับความร้อนที่อุณหภูมิสูงประมาณ 160๐– 220๐C จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และมีการปล่อยสารโมเลกุลใหญ่ หรือสารประกอบบางชนิดออกมา นอกจากนี้อาจมีสารพิษไม่ทราบชนิดที่มีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว และสารบางอย่างสะสมในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็งได้ ในกล่องโฟม (โพลิสไตรีน ; Polystyrene) เมื่อได้รับความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิดคือ สไตรีน (styrene) และเบนซิน (Benzene) ซึ่งเบนซินเป็นสารที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาการของผู้ที่ได้รับเบนซินเข้าไป คือ ในระยะแรก ๆ จะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ถ้าดื่มหรือกินอาหารที่มีเบนซินปนเปื้อนอยู่สูง จะทำให้มีอาการปวดท้องเนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้

สำหรับสไตรีน (styrene) ผลต่อร่างกายเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง การสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก เพราะไปทำให้เยื่อเมือกเกิดความระคายเคือง ปวดศรีษะ ง่วงซึม เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลระบุความเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง



ข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์