นอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าจะนอนไม่หลับ
โดยทั่วไปแล้ว การนอนไม่หลับ หมายถึง การนอนหลับยากหลับๆ ตื่นๆ ตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้แล้วรู้สึกอ่อนเพลีย มึนๆ หงุดหงิดในวันรุ่งขึ้น นานๆ เข้าก็จะเริ่มวิตกกังวลเรื่องการนอน ทำให้มีการขวนขวายหาวิธีต่างๆ เช่น การสวดมนต์ ทำสมาธิ ผ่อนคลาย หรือหาอาหารเสริมต่างๆ ฯลฯ เพื่อหวังว่าจะทำให้หลับได้สบายขึ้น
เมื่อทำสิ่งต่างๆ แล้วยังหลับไม่ได้ บางคนอาจจะเริ่มกลัวการนอน หรือกลัวเวลากลางคืนไปเลยก็ได้ (และแอบอิจฉาคนข้างๆ ที่หลับได้ง่ายดายจริงๆ) จริงๆ แล้ว การนอนนั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้ให้ไว้กับมนุษย์เป็นของขวัญ ดูได้จากเด็กเล็กๆ ก็มีความสามารถในการนอนอย่างมีความสุข ติดต่อมาตั้งแต่เกิด นั่นแสดงว่า การนอนนั้น เมื่อมีปัจจัยที่พร้อม ร่างกายก็จะทำการ “นอน” โดยตัวของมันเอง ปัจจัยดังกล่าวก็คือ ความสบายกายสบายใจ นำมาซึ่งความผ่อนคลาย และการนอนจะเกิดตามมาเอง ในผู้ใหญ่เรา มีเรื่องวุ่นวายกระทบชีวิตมาก มีความคาดหวังในทุกเรื่องและเข้าใจเอาเองว่า จะสามารถบังคับตัวเองให้หลับได้เท่านั้น เท่านี้ เพื่อที่จะมีแรงมีกำลัง สดชื่น ไปทำกิจกรรมที่วุ่นวายในวันต่อไป หรือ แทรกแซงกระบวนการนอนตามธรรมชาติ โดยการนอนดึกเพราะต้องการดูทีวี เล่นเกมส์ หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่อยากเสพ และเข้านอนด้วยจิตใจที่ยังคงฟุ้งไปด้วยข้อมูลมากมายในสมอง ลงเอยด้วยการบังคับตัวเองต่างๆ นาๆ จนกระทั่งนอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าจะนอนไม่หลับ ในที่สุด
การนอนไม่หลับในลักษณะนี้ เป็นปัญหาที่ตัวท่านเองสร้างขึ้นมา เมื่อลดการแทรกแซงตัวเอง และเสริมความสบายกาย สบายใจ การนอนก็จะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ (ในที่นี้ หมายถึง หลับดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ไม่กังวลใจ ไม่กลัวการนอน) โดยใช้ยาน้อยมาก หรือเท่าที่จะจำเป็นในระยะแรกเท่านั้น
เริ่มต้น การเตรียมความสบายกาย สบายใจ โดยการเข้านอน ตื่นนอนตามปกติ และการนอนประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่ควรมีกิจกรรมที่ตั้งใจหรือต้องการใช้ความคิดวิเคราะห์ เก็บข้อมูลมากๆ แล้วตั้งเป้าหมายกับการนอนใหม่ ลดการกดดันบังคับตัวเอง ทำใจให้สบาย อาจจะบอกตัวเองในใจว่า “ไม่หลับก็ไม่เป็นไร” ปล่อยให้ร่างกายหลับด้วยตัวเอง ในกรณีถ้านอนไม่หลับจริงๆ ก็ให้อภัยตัวเอง ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นและไปทำงานตามปกติ (ความมึน หงุดหงิดเกิดจากความผิดหวังมากกว่าการนอนไม่หลับ) ฝึกฝนบ่อยๆ เข้า ความกดดันต่อร่างกาย จิตใจจะลดลงและหลับได้เอง แต่ถ้าวิตกกังวล บังคับตัวเองจนเป็นนิสัย ก็อาจจะต้องใช้ยาร่วมด้วยในระยะแรกครับ
นพ.อนันต์ ธนาประเสริฐกรณ์ จิตแพทย์