ย้ำคิดย้ำทำหรือรอบคอบความเหมือน...ที่แตกต่าง
รอบคอบCละเอียด ลออ ระวังเหตุการณ์ข้างหน้าข้างหลังเสมอ
ย้ำคิด C ความคิดที่ผุดเข้ามาในสมอง โดยไม่ตั้งใจและทำให้กลัวหรือวิตกกังวล
ย้ำทำ C การกระทำเพื่อลดความกลัวหรือความวิตกกังวล ที่เกิดจากอาการย้ำคิด
ใครกันที่รอบคอบและใครกันที่ ย้ำคิด...ย้ำทำ ดาริกา เอกรินทร์ หรือวรภัทร
ดาริกา: สาววัยใส แต่ไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาดของตนเอง ปักใจหมกมุ่นอยู่กับการจัดรองเท้าให้วางเป็นคู่ๆเสมอ หากเธอเห็นคนถอดรองเท้าไว้ไม่เรียงกัน เธอต้องแอบไปจัดหรือแอบเขี่ยให้มันเข้าคู่กันทุกครั้งไป
เอกรินทร์: วิศวกรหนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์ ก่อนจากบ้านชายหนุ่มต้องยุ่งวุ่นวายอยู่กับการปิดถังแก๊ส ปิดก๊อกน้ำในครัว เดินวนไปมาอยู่ 4-5 รอบ ทุกวันกว่าจะออกจากบ้านได้
วรภัทร: เรียนอยู่ปี 3 เพื่อนชวนไปท่องราตรี และเผลอไผลไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการ โดยไม่ได้ป้องกันตัววรภัทรเพียรไปขอเจาะเลือดเพื่อตรวจเชื้อเอดส์หลายครั้งได้รับคำยืนยันว่าผลเลือดเป็นลบ และไม่ติดเชื้อเอดส์แน่นอน แต่ความวิตกกังวลและหวาดกลัวก็มิคลายลง แถมวรภัทรยังติดนิสัยล้างมือบ่อยๆนานๆ โดยเฉพาะเมื่อออกจากห้องน้ำสาธารณะอีกด้วย
มีใครรู้บ้างไหมว่าแท้ที่จริงทั้ง 3 คนพยายามที่จะหยุดยั้งความคิดที่แปลกไปจากคนทั่วไป หรือความคิดที่เขาเองก็รู้ว่าไม่สมเหตุสมผล เขารู้นะว่าไม่ควรคิดหรือไม่ควรทำแต่หักห้ามใจตัวเองไว้ไม่ได้ หนำซ้ำหากไม่ได้คิดหรือไม่ได้ทำจะยิ่งกังวลหนักขึ้นไปอีก
หลายคนอาจจะเถียงในใจว่าใช่ความรอบคอบหรือเปล่า เพราะเคยมีประสบการณ์เหมือนกัน เรื่องปิดประตูบ้าน ประตูรถ หรือปิดแก๊ส ปิดไฟ อาการย้ำคิดย้ำทำ อาจเกิดกับคนปกติได้ แต่ต้องเป็นลักษณะนานๆครั้ง หรือบางที่เป็น บางที่ไม่เป็น ซึ่งอาจเกิดจากช่วงนั้นมีเรื่องเครียด คิดกังวลอยู่ทำให้สมาธิไม่ดี ทำกิจวัตรไปโดยอัตโนมัติ ไม่มีสติ แต่พอมีสติกลับคืนมาจึงทำให้มีความคิดผุดขึ้นมาในสมองว่าๆ ได้ทำสิ่งเหล่านั้นเรียบร้อยหรือไม่ ทำให้ต้องกลับไปตรวจสอบซ้ำ อย่างนี้ซิถึงจะเรียกว่ารอบคอบ
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder : OCD) เป็นโรคทางจิตเวชที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก สมัยก่อนเข้าใจว่าเป็นโรคที่พบน้อยปัจจุบันมีการศึกษาใหม่พบว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณครึ่งหนึ่งของโรคซึมเศร้าคือหนึ่งร้อยคนจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ 2-3 คนคนเหล่านี้ไม่ได้เปิดเผยตัวให้ผู้อื่นรู้เพราะอาย หรือไม่รู้ว่าเป็นอาการเจ็บป่วยที่รักษาได้ บางคนมีอาการย้ำคิดอย่างเดียว บางคนมีทั้งย้ำคิดและย้ำทำบางคนอาจจะเป็นลักษณะทำอะไรช้ามากๆจนคนรอบข้างเบื่อหน่ายรำคาญกับพฤติกรรม หรือบางคนมีพฤติกรรมเป็นแบบแผนคล้ายทำเป็นเคล็ดเป็นประจำทุกวัน เหมือนในฉากภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดเรื่องAs Good As It Gets มีแจ๊คนิโคสันแสดงบทบาทเป็นนักเขียนชื่อดังมีอาการย้ำคิดย้ำทำ โดยใช้มือบิดกลอนประตูซ้ำกันสามครั้ง พร้อมกับนับหนึ่ง...สอง...สาม เพื่อให้แน่ใจว่าเขาได้ล็อกมันแล้วจริงๆ ฉากทางเดินบนฟุตบาทก็เช่นกัน ผู้ชมอาจฉงนว่าทำไม แจ๊ค-นิโคสันที่แสดงเป็นเมลวิน ต้องกระโดดข้ามแผ่นทางเดินไปมาอย่าระมัดระวัง เป็นที่ตลกขบขันแก่ผู้พบเห็น ก็เพราะเขามีบุคลิกแบบPerfectionist ที่ต้องสมบรูณ์แบบ แม้แต่แผ่นทางเดินเขาก็เลือกที่จะเดินบนแผ่นที่ไม่มีรอยแตก
หากท่านต้องการทดสอบว่าป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือเป็นแค่ความรอบคอบ ลองพิจารณาข้อความข้างล่างนี้ ถ้าพบข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อนี้ให้สงสัยไว้ก่อนค่ะ
1. คิด-ทำเป็นวงกลม: ความคิดหรือการกระทำเหล่านั้นมักจะวนเวียนเป็นวงกลมคือเดี๋ยวคิดเดี๋ยวทำ เดี๋ยวก็คิด และเดี๋ยวก็ทำอีกแล้ว หักห้ามใจไม่ได้
2. ทุกข์ระทม เมื่อไม่ได้ทำ:อาการเป็นมากจนถึงขั้นเสียงานเสียการเพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำ หรือพยายามที่จะหาหนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้นให้เกิดความคิดเหล่านั้น และที่สำคัญรู้สึกทุกข์ทรมานใจมากที่ไม่ได้ทำ
3. สารพัดปัญหาที่ตามมา: อาการเหล่านั้นก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นต้องใช้การดื่มสุรา ใช้สารเสพติด เพื่อลดอาการเครียด วิตกกังวล บางคนถึงขั้นมีปัญหาขัดแย้งกับคนรอบข้าง บางครั้งทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย เพื่อหลีกหนีปัญหานี้ก็มี
ท่านใดที่พบว่าตนมีอาการข้อหนึ่งข้อใดหรือทั้งสามข้อ ก็อย่าตื่นตกใจเพราะคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ไม่ใช่คนบ้า เขายังรู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง รู้ว่าสิ่งที่ตนกลัวนั้นไร้สาระแต่หยุดการย้ำคิด และอดที่จะกลัวไม่ได้ รวมทั้งไม่กล้าที่จะฝืนที่จะไม่ย้ำทำ โรคนี้รักษาได้ค่ะ ในวงการจิตแพทย์พบว่า โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นความผิดปกติระบบการทำงานของสารสั่งประสาท ซีโรโทนิน (เป็นโรคที่มีความเกี่ยวพันกับพันธุกรรมแต่โชคดีค่ะ ที่มียาที่สามารถออกฤทธิ์ ปรับการทำงานของซีโรโทนิน ในสมองได้ ปัจจุบันการรักษามี 2 วิธีคือ
- พฤติกรรมบำบัด เป็นการฝึกให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว จนเกิดความเคยชินทำให้ไม่กลัวที่จะไปทำอีกต่อไป
- การใช้ยา เป็นการปรับการทำงานของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน
ท่านใดที่มีประสบการณ์กับโรคย้ำคิดย้ำทำ ท่านไม่ต้องทุกข์ใจอีกต่อไป ท่านสามารถขอรับการบำบัดรักษาจากจิตแพทย์ได้ ไม่จำเป็นต้องรอจนทนไม่ไหวหรอกค่ะ ...
srithanya
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!