เตือน เหล้าปั่นภัยซ่อนเร้น
"เหล้าปั่น"ภัยซ่อนเร้น ล่าเหยื่อวัยรุ่น-นักดื่มหญิง จากสถิติข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า อัตราการดื่มของนักดื่มหน้าใหม่มีถึงปีละ 260,000 คน อายุน้อยที่สุด 9 ขวบ และเคยพบเด็ก 5 ขวบที่ลองดื่ม ข้อมูลตั้งแต่ปี 2539-2550 พบว่า เยาวชนอายุ 15-19 ปี เป็นนักดื่มประจำเพิ่มขึ้นกว่า 70% จากการสำรวจพบว่า ร้านขายเหล้ากว่า 83.3% ขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนหอพักนักศึกษากลายเป็นที่ขายเหล้ามากถึง 25% ในขณะที่ร้านเหล้าปั่นขยายตัวมากขึ้นกว่า 3 เท่า และส่วนใหญ่อยู่ในรัศมี 200 เมตรรอบมหาวิทยาลัย นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่ามีการนำเหล้ามาปั่นกับน้ำแข็ง ผสมน้ำตาล ผสมสี ผสมกลิ่นให้ดูเหมือนกับว่าเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ ทำให้เด็กนักเรียนนักศึกษาดื่มได้ง่ายและสะดวก คล้ายๆ กับไวน์คูลเลอร์ในยุคหนึ่ง แต่ไวน์ คูลเลอร์ยังมีขวดมีสัญลักษณ์ที่ชัดเจน แต่นี่เหมือนน้ำผลไม้ปั่นตามร้านที่ขายน้ำผลไม้ปั่น ที่เรียกว่า สมูทตี้ ซึ่งเหล้าปั่นมีการปรุงคล้ายๆ กัน การดื่มสุราไม่เหมือนการดื่มน้ำอัดลมทั่วไปตรงที่น้ำอัดลมดื่มแล้วไม่ติด ไม่ได้มีผลต่อสมอง แต่สุราถ้าดื่มแล้ว ทำให้เกิดภาวะเสพติด เพราะว่าเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะไปควบคุมหรือแทรกแซงการทำงานของสมอง เมื่อดื่มติดต่อกันหลายครั้งแล้วรู้สึกมีความสุขจากการดื่มสุรา ก็จะเกิดภาวะเสพติดสุรา "เหล้าปั่นดูเหมือนว่าแอลกอฮอล์จะเจือจางก็จริง แต่เป็นการล่อเหยื่อที่ร้ายแรง เพราะการดื่มเหล้าปั่นนั้นดื่มง่าย ดื่มสะดวกมากกว่าดื่มสุราแท้ๆ เพราะคนที่ไม่เคยดื่มสุราก็สามารถดื่มได้สบายๆ เพราะไม่ต่างจากน้ำหวานหรือน้ำผลไม้มากนัก แต่ในระยะยาวจะทำให้เสพติดได้ หรือถ้าดื่มปริมาณมากพอสมควรก็ทำให้เมาได้"
ที่สำคัญคือ การดื่มสุราทำให้การศึกษาเล่าเรียนทำได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อสุราดื่มเข้าไปแล้วจะทำลายสมองหรือแทรกแซงการทำงานของสมอง จะให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาในทางที่ดีและเหมาะสม
ประเด็น ที่สำคัญที่สุด สำหรับเด็กและเยาวชนถ้าดื่มสุราจะควบคุมพฤติกรรมของตัวเองไม่ได้ เพราะว่าโดยปกติเด็กหรือเยาวชน ความสามารถของสมองส่วนหน้าที่จะไตร่ตรอง ควบคุมพฤติกรรมของตัวเองทำได้น้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฮอร์โมนเพศเริ่มทำงานก็จะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์แปรปรวนเป็นพื้น
จุดนี้เป็นประเด็นที่ร้ายแรงมาก ถ้าหากปล่อยให้มีร้านจำหน่ายสุราอยู่ใกล้โรงเรียน หรือสถานศึกษา โดยเฉพาะไม่ได้เป็นรูปของการจำหน่ายสุราแท้ๆ อย่างชัดเจน แต่แฝงตัวอยู่ในรูปของน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ปั่น ทำให้การควบคุมทำยาก