รู้กันสักที ใคร...? ‘เพี้ยน’...!

รู้กันสักที ใคร...? ‘เพี้ยน’...!


เคยไหม? เวลาไม่พอใจอะไร มักทำเสียงดังตึงตัง เพื่อเรียกร้องความสนใจ พูดจากระทบกระแทกแดกดันคนใกล้ตัวเพื่อความสะใจ หรือแม้กระทั่งใช้เล็บข่วนกับคีย์บอร์ดให้เกิดเสียงดัง “แคร็ก แคร็ก” เหมือนอยากขย้ำศัตรูให้ตายต่อหน้า
   
หากพบว่าเคยทำอาการบางอย่าง ลองสำรวจตัวเองหรือคนใกล้ตัวดูสิว่า เข้าข่าย “เพี้ยน” หรือไม่ ?
   
ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์ แพทย์ผู้รักษาอาการทางด้านจิตเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล่าให้ฟังว่า
 
จิตเวช เป็นกลุ่มอาการของผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิตและพฤติกรรม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเพี้ยน (โรคจิตหรือบ้า) และกลุ่มไม่เพี้ยน โดยผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่า เพศหญิงมีความเสี่ยงมากถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เกิดจนตายต้องเคยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ครั้ง ส่วนเพศชายพบน้อยกว่าคือมีเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจาก เพศชายจะมีความเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนเพศน้อยกว่าเพศหญิง
   
มาดูกลุ่มแรกกันก่อน สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเพี้ยน จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรจริง-ไม่จริง มีอาการหลงเชื่อผิด ๆ แก้ด้วยเหตุผลไม่ได้ (Delusion) เช่น เชื่อว่ามีจระเข้อยู่ในท้อง แต่เมื่อตรวจดูจนทราบผลว่าไม่มีก็ยังไม่ยอมรับ และมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว (Hallucination) เช่น ได้ยินเสียงพูดของคนที่ตายไปแล้วขณะที่กำลังรู้สึกตัว หรือเห็นภาพหลอนใกล้ตัว
   

ส่วนกลุ่มไม่เพี้ยน การแยกแยะว่าสิ่งไหนจริง-ไม่จริง จะยังดีอยู่ แต่มีอารมณ์แปรปรวน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

 
ไม่เพี้ยนแต่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ที่เข้าข่ายจะมีความรู้สึกเศร้า ไม่มีความสุข กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ชอบร้องไห้ อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่นาน 6-12 เดือน เมื่อหายก็จะกลับเป็นปกติ และอีกกลุ่มเรียกว่า ไม่เพี้ยนแต่เป็นไบโพลาร์ (Bipolar) บางครั้งจะมีอาการเหมือนซึมเศร้า หรือมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า คือ
เฮฮา คึกคัก ก้าวร้าว สร้างความเดือดร้อน อารมณ์ทางเพศสูง มีอาการที่เข้าข่ายหรือทั้งหมดรวมกันนาน 3-6 เดือน แล้วจะหายเป็นปกติ
   
คุณหมอสเปญ ย้ำว่า กลุ่มไม่เพี้ยน จะมีอาการเพียงระยะเวลาหนึ่ง แต่หากมีอาการรุนแรง เรื้อรัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะตัดสินใจบกพร่อง และพัฒนาจนเข้าขั้นเพี้ยนได้
   
นอกจากนี้ โรคเครียด ยังเป็นอีกโรคที่รวมอยู่ในกลุ่มไม่เพี้ยน ผู้ที่ขาดความมั่นใจ ไม่ชอบพึ่งพาตนเอง ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคเครียดได้ง่าย
   
เครียดหรือไม่เครียด รู้ได้อย่างไร มาสำรวจกัน แต่บอกไว้ก่อนว่าหากมีอาการเพียง 1 ใน 3 ถือว่าเข้าข่ายโรคเครียดแล้ว เริ่มจาก รู้สึกเป็นทุกข์ทรมาน, ไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้, สร้างพฤติกรรมที่อาจเกิดผลเสียตามมา เช่น เครียดจนทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ใช้เงินเกินตัวจนเป็นหนี้ ถ้าอาการเหล่านี้ยังคงอยู่ คิดไม่ตก แก้ไม่หาย การปรึกษาจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดี ก่อนที่โรคเครียดจะแปรเปลี่ยนเป็น
“โรคซึมเศร้า”
   
หากไม่อยากตกอยู่ในภาวะเครียด จนก่อให้เกิดอาการทางประสาท ทำได้ไม่ยากเพียงรู้ทัน “จิตใจ” ของตนเอง มองปัญหาให้ชัดเจนแล้วหาทางแก้ไข เพราะทุกปัญหามีทางออกเสมอ

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์