นิ่วทางเดินปัสสาวะโรคคนจนที่ถูกหลงลืม
โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ เป็นหนึ่งในอีกหลายโรคในประเทศไทยที่ถูกหลงลืม และเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ
โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้คนไข้เป็นไตวาย บางรายอาจถูกจะต้องถูกตัดไตทิ้ง บางรายอาจต้องถึงแก่ชีวิต ปี 2537 สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทยได้ศึกษาความชุกของโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะในประเทศไทย พบว่ามีความชุกอยู่ที่ 2.2 ต่อประชากรพันคน โดยภาคอีสานสูงสุดอยู่ที่ 4.2 พันประชากร และมักเป็นกับคนจน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานที่ยากไร้ในชนบทในภาคอีสาน
สาเหตุของการเกิดโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะนั้น ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายมี แร่ธาตุโปรแตสเซียมและซิเตรทต่ำ โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคข้าวเหนียว ที่มีวิธีการหุงโดยต้องแช่น้ำไว้นาน ทำให้สูญเสียโปรแตสเซียมออกไป อีกทั้งลักษณะการทำงานที่ใช้แรงงานเสียเหงื่อมาก ทำให้สูญเสียโปรแตสเซียมออกจากร่างกายมากขึ้น ประกอบกับการรับประทานผลไม้สุกน้อย ทำให้มีซิเตรทต่ำ
จากการที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอรับบริการเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการรักษาโดยวิธีผ่าตัด จากการสำรวจการรอคิวผู้ป่วยโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะในภาคอีสาน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อต้นปี 2552 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยต้องรอรับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดเฉลี่ย 6 เดือน ในบางจังหวัดอาจต้องรอนานถึง 2 ปี เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่มีแพทย์ให้บริการน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอรับการรักษานาน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิเช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงขึ้นในระบบสาธารณสุขในที่สุด
ปัจจุบันนอกจากการรักษาโดยวิธีผ่าตัดแล้ว หากเป็นนิ่วก้อนเล็กๆ ยังสามารถใช้เครื่องสลายนิ่วมารักษาแทน ทำให้คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว และยังมีราคาไม่สูงมาก แต่กลับพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งนำผู้ป่วยไปสลายนิ่วโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อหารายได้จากผู้ป่วยหรือหน่วยงานของรัฐ อาทิเช่น สปสช. กรมบัญชีกลาง เพราะอัตราการจ่ายเงินของ สปสช. ยังจ่ายอยู่ที่ประมาณครั้งละ 16,000 บาท/ครั้ง กรมบัญชีกลางยังจ่ายอยู่ที่ครั้งละ 24,000 บาท/ครั้ง ขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ไม่เกิน 6,500 บาท/ครั้ง ซึ่งจูงใจให้โรงพยาบาลหารายได้จากการสลายนิ่ว ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการสลายนิ่วตามมา
ปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ตั้งแต่มหาวิทยาลัยในการหาองค์ความรู้ที่จะมาใช้ในการป้องกันการเกิดโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ การร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะให้ครอบคลุมในพื้นที่มีเป็นปัญหา เพราะปัจจุบันยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังขาดแคลนแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
ในส่วนของคุณภาพการรักษาพยาบาล บทบาทสำคัญอยู่ที่กลุ่มวิชาชีพ โดยเฉพาะสมาคมแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คงต้องร่วมกันกำหนดมาตรฐานการรักษา โดยเฉพาะการสลายนิ่วให้ชัดเจน ที่สำคัญ สปสช.และกรมบัญชีกลางคงต้องกำหนดราคาการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลต่างๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น
ท้ายที่สุด ต้องไม่ลืมว่าโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะเป็นโรคของคนจน อำนาจการต่อรองต่ำ คนเหล่านี้ไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีกำลังที่จะไปหาแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนที่ไหนได้ ทำได้ก็เพียงรอการรักษาจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันกำจัดโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ