ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความกังวลในเรื่องส่วนสูง โดยเฉพาะ วัยรุ่น เพราะคงไม่มีใครอยากเกิดมาได้ชื่อว่าเป็น คนเตี้ย
ทำให้ผู้ที่เข้าข่ายเริ่มรู้สึกว่า ส่วนสูงที่ไม่ปกติของตนเป็นปมด้อยในชีวิต หลายคนหาทางออกด้วยวิธีต่าง ๆ นานา...เพื่อลบปมด้อยนี้
โดยปกติแล้วการเจริญเติบโตของแต่ละคน แต่ละช่วงวัยจะไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ ปัจจัยเรื่องของกรรมพันธุ์ ภาวะการเจริญเติบโตตั้งแต่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด รวมทั้งช่วงของการเจริญเติบโตของหญิงและชายก็ไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ทำให้แต่ละคนมีส่วนสูงที่แตกต่างกัน
ลดความเสี่ยง สูงไม่ได้มาตรฐาน !!
นพ.สัญชัย เชื้อสีห์แก้ว กุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและ เมตาบอลิซึม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายเกี่ยวกับเรื่องของส่วนสูงให้ฟังว่า โดยปกติเด็กแรกเกิดการเจริญเติบโตของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะไม่ค่อยแตกต่างกัน จะเริ่มแตกต่างกันในช่วงวัยรุ่นโดยเด็กผู้หญิงจะโตเร็วกว่าเด็กผู้ชาย
ในเรื่องของส่วนสูงเมื่อคลอดออกมาแล้วจะมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร หลังจากนั้น ในขวบปีแรกอัตราความสูงจะเพิ่ม 25 เซนติเมตร เป็น 75 เซนติเมตร หากเด็กเมื่ออายุ 1 ขวบไปแล้ว แต่มีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 25 เซนติเมตร แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือเด็กที่เข้าโรงเรียนซึ่งจะมีอายุประมาณ 4 ขวบ จะต้องสูงขึ้นอย่างน้อย 6-7 เซนติเมตร เมื่ออายุ 4-10 ขวบ เด็กหญิงจะสูงขึ้นประมาณ 4-12 เซนติเมตร ส่วนเด็กชายสูงประมาณ 5 เซนติเมตรต่อ ปี และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะสูงประมาณ 7-8 เซนติเมตรต่อปี
ปัจจัยที่ทำให้คนเราสูงไม่เท่ากัน เกิดจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุแรกมาจากกรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหลัก ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เช่น เด็กเป็นเด็กปกติ แต่มีประวัติ พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย เตี้ย ลูกก็จะเกิดมาเตี้ยด้วย เพราะกรรมพันธุ์ เป็นตัวกำหนดโครงสร้างพื้นฐานของลูกหลานให้มีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางเดียวกัน
รวมทั้ง พ่อ แม่ เป็นหนุ่ม เป็นสาวช้า เช่น ฝ่ายหญิงโดยปกติทั่วไปจะมีประจำเดือนตอนอายุ 12-13 ปี สำหรับกลุ่มที่เป็นสาวช้าจะมีประจำเดือนหลังอายุ 14 ปี ไปแล้ว หรือฝ่าย ชายมีประวัติว่าเป็นหนุ่มช้า ตัว เล็ก แล้วค่อยมาโตขึ้นทีหลังเมื่อตอนอยู่มัธยมปลายไปแล้วในช่วงอายุ 15-16 ปี จึงจะเริ่มโต ทำให้ลูกมีโอกาสที่จะเตี้ยได้
อีกทั้ง สิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาวะโภชนาการ คือ เด็กได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ไม่ครบ 5 หมู่ ทำให้เด็กขาดสารอาหารส่งผลให้เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
รวมถึง เด็กที่ขาดความอบอุ่นในการเลี้ยงดู เช่น พ่อ แม่ หย่าร้างกัน หรือทะเลาะกันให้ลูกเห็นทุกวัน มีผลทำให้เด็กขาด “โกรท ฮอร์โมน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ทำให้เด็กโตช้า แคระแกร็น และส่งผลให้ความสูงไม่เพิ่มขึ้นตามมา
ตลอดจน การเจ็บป่วย โรคต่าง ๆ ที่เรื้อรังในเด็ก เช่น เด็กที่เป็นภูมิแพ้ อาทิ หอบ หืด โรคเลือด โรคไต โรคหัวใจ ทำให้เด็กป่วยบ่อย เกิดการเจริญ เติบโตไม่เต็มที่ โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง อาหารและสภาวะทางด้านอารมณ์ จิตใจ ส่งผลถึงการเจริญเติบโตของเด็กทั้งสิ้น
การคำนวณความสูงว่าคนคนหนึ่งควรจะสูงเท่าไร สามารถคำนวณได้โดย ถ้าเป็น เด็กผู้ชายให้เอาความสูงของพ่อ บวก ความสูงของแม่ แล้วบวกด้วย 13 จากนั้น หารด้วย 2 จะได้ความสูงของเด็กผู้ชายคนนั้นที่ควรจะเป็น สำหรับ เด็กผู้หญิง ให้เอาความสูงของพ่อ บวก ความสูงของแม่ แล้วลบด้วย 13 จากนั้น หารด้วย 2 ก็จะได้ความสูงของเด็กผู้หญิงคนนั้น ที่ควรจะเป็น
จะเห็นได้ว่าภาวะโภชนาการเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ในการเจริญเติบโตของเด็ก นอกเหนือจากกรรมพันธุ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ หลังคลอด ช่วงวัยเด็ก รวมทั้งในขณะที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หากกินโดยไม่เกิดความสมดุลกับร่างกายก็จะไปรบกวนการเจริญเติบโตได้
วิธีธรรมชาติที่จะทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นมาได้นั้น มาจาก การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างเพียงพอ เน้นจำพวกโปรตีน เนื้อ นม ไข่ ยกเว้น เนื้อไก่ อย่าทานมากโดยเฉพาะในเด็กผู้หญิง เพราะมีเด็กผู้หญิงมาหาหมอเพราะมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ มีตอนอายุ 9-10 ขวบ ซักประวัติพบว่า เด็กชอบกินเนื้อไก่เป็นประจำ เนื่องจากบางครั้งเนื้อไก่อาจมีสารฮอร์โมนที่เร่งเนื้อ เร่งไข่ปนอยู่
“โดยเฉพาะแคลเซียม เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เด็กที่กำลังเจริญเติบโตต้องการสะสมแคล เซียมเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันภาวะกระดูกพรุน ซึ่ง ช่วงที่ สะสมแคลเซียมได้ดี คือช่วงอายุก่อนถึง 30 ปี โดยจะสะสมประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะไปหยุดสะสมเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปแล้ว ซึ่งแคลเซียมจะได้จาก ผัก ชีส โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย ถั่ว งา และโดยเฉพาะนม ที่มีปริมาณแคลเซียมมาก ซึ่งเด็กปกติทั่วไปควรดื่มนมวันละ 3-4 แก้ว โดยให้ ร่างกายได้รับแคลเซียมประมาณ 1 กรัม ต่อวัน”
รวมทั้ง การออกกำลังกาย ที่มีส่วนทำให้มีส่วนสูงเพิ่มขึ้น คือ การออกกำลังกายที่ไปกระตุ้น แขน ขา ให้มีการเคลื่อนไหว โดย แขน ขา นั้น มีการต้านแรงโน้มถ่วง เช่น การกระโดดเชือก การเล่นแบดมินตัน เทนนิส โดยจะต้องออกกำลังกายครั้งละครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง อาทิตย์ละประมาณ 3-4 ครั้ง เป็นประจำ
ตลอดจน การพักผ่อนอย่างเพียงพอ เนื่องจากมีฮอร์โมนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต คือ โกรท ฮอร์โมน ที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ทำ ให้กระดูกขยายตัวสูงขึ้น โดย ร่างกายจะผลิตอย่างเต็มที่หาก ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดย วัยเด็กจนก้าวเข้าสู่วัยรุ่น จึงควรนอนแต่หัวค่ำเพราะโกรท ฮอร์โมนจะออกมาในช่วงนั้น เพื่อให้ฮอร์โมนชนิดนี้ผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมทั้ง ต้องไม่เครียด เพราะความเครียดจะไปกดโกรท ฮอร์โมน ให้ออกมาน้อยลง
พ่อแม่จึงควรจะเอาใจใส่ลูกในทุก ๆ เรื่อง โดยสังเกตเรื่องความสูงได้จากเมื่อเวลาไปฉีดวัคซีน ต้องสอบถามหมอด้วยว่า ลูกมีการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร มีส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์ปกติหรือไม่ และหากดูแลเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย อย่างถูกต้องตามช่วงอายุแล้ว เด็กจะสามารถสูงตามมาตรฐานได้.
'โสน' แก้พิษร้อน...มากคุณค่าวิตามิน
โสน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีประวัติมายาวนาน คนไทยรู้จักดีและนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านคาวหวานได้หลากหลายเมนู เช่น ดอกโสนผัดน้ำมันหอยหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิ แกงส้มดอกโสนใส่ปลาช่อน และขนมดอกโสน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะนำมาปรุงอาหารให้รสชาติที่แสนอร่อยแล้ว คุณผู้อ่านทราบกันหรือไม่ว่า “โสน” ยังมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
โสนในเมืองไทยมีหลายพันธุ์ คือ โสนหิน โสนคางคก โสนหางไก่ใหญ่ โสนหางไก่เล็ก ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร ใบเล็กฝอยคล้ายกับใบมะขามหรือใบกระถิน ดอกสีเหลืองคล้ายดอกแค แต่เล็กกว่าและมีฝักยาว มีเมล็ดในฝักคล้ายกับถั่วเขียว
สำหรับดอกโสนที่ใช้รับประทานเป็นอาหาร คือ โสนหินหรือโสนกินดอก จะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม โดยชาวบ้านมักเก็บดอกโสนในช่วงเย็น เพราะจะได้ดอกตูมน่ารับประทาน และหากรับประทานไม่หมดสามารถนำดอกโสนมาดองเก็บไว้รับประทานได้ ซึ่งการดองทำได้ไม่ยาก โดยนำดอกโสนมาล้างให้สะอาดและใส่ไว้ในขวดโหลแก้วหรือภาชนะกระเบื้อง จากนั้นปรุงน้ำที่ใช้ดอง นำเกลือป่นผสมในน้ำซาวข้าวให้ออกรสเค็มเล็กน้อย เติมน้ำตาลทรายอีกหน่อยแล้วเทลงในภาชนะที่ใส่ดอกโสนให้ท่วมพอดี ปิดฝาทิ้งไว้ 1 วันก็สามารถรับประทานได้แล้ว ยิ่งถ้าทิ้งไว้นาน ๆ จะเปรี้ยวมากขึ้นสามารถรับประทานร่วมกับน้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า หรือน้ำพริกปลาทูก็ได้
นอกจากดอกโสนจะปรุงเป็นอาหารแล้วยังนำมาทำเป็นขนมดอกโสนได้ด้วยการนำดอกโสนมานึ่งให้สุก นำมาคลุกรวมกับแป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี มะพร้าว และน้ำตาล รับประทานได้ ง่าย ๆ อย่างเอร็ดอร่อย ที่สำคัญดอกโสนยังให้สีเหลือง สามารถคั้นน้ำจากดอกมาทำเป็นขนมบัวลอยและขนมตาลที่มีสีเหลืองน่ารับประทานปลอดภัยไม่ต้องใส่สีผสมอาหารอีกด้วย
ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของโสนประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน วิตามินซี และสารพวกแคโรทีนอยด์ โดยส่วนของโสนที่มีประโยชน์ คือดอก ใบ และต้น ซึ่งดอกนั้นมีรสชาติจืดเย็นจึงมีสรรพคุณในการแก้พิษร้อน ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ปรุงเป็นยาพอกแผลได้ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณใช้แก้ปวดมวนท้องด้วย ส่วนใบโสนมีสรรพคุณใช้ตำยาพอกแผลได้ และต้นโสนสามารถนำมาเผาไฟให้เกรียมแล้วเอามาต้มชงเอาน้ำดื่มใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ดีทีเดียว
ดอกไม้สีเหลืองกินได้ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเราแบบนี้ หากใครยังไม่เคยลองชิมต้องหาเก็บจากต้นมาปรุงอาหารสารพัดเมนูที่แนะนำไปรับประทานกันดูเสียแล้ว แต่ระวังต้องล้างให้สะอาดก่อนปรุงนะคะเพื่อพลานามัยที่ดีค่ะ.