เป็นยังไงนะ...โรคแพ้ตึก!
อาการแพ้ตึกเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่มักต้องใช้ชีวิตบนตึกสูง....
โปรดิวเซอร์รายการทีวี ผู้มีหน้าที่หลักในการจัดหาพร็อพ และ อุปกรณ์ประกอบฉาก ให้รายการต่างๆ นางหนึ่ง (นะฮ่ะ) ...จู่ๆ เจ้าหล่อนก็ยกนิ้วกรีดกรายไปมาในอากาศอย่างช้าๆ ก่อนจะหลุบเปลือกตาอันอาบไล้ไปด้วยอายไลเนอร์สีเขียวแกมทองลงครึ่งหนึ่ง ปรายตาไปเสียอีกทางก่อนกระแอมไอพอเก๋ เอ่ยคำทำนองหารือว่า “สงสัยชั้นจะเป็น โรคแพ้ตึก ”
“โรคอะไรนะ” ฉันถาม ค่าที่เกิดมาเป็นตัวเป็นตนยังไม่เคยได้ยินมาก่อน“ต๊ายยยยย... (จริงๆ ลากเสียงยาวกว่านี้) นี่หล่อนไม่รู้จักโรคแพ้ตึกรึยะ เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นกันย่ะ” เจ้าหล่อนทำเสียงสำเนียง หมิ่นแค&O5533;น
“เป็นนักข่าวซะเปล่า เอาต์สุดสุด ชั้นจะบอกให้รู้ว่าตอนเนี้ยใครๆ เขาก็เป็นโรคนี้กันทั้งนั้นล่ะ”แหม...ไม่ได้ซะแล้ว ไม่อาจยอมให้ผู้จัดการงานพร็อพผู้นี้มาดูถูกได้อีกต่อไป เห็นทีจะต้องไปหาความรู้เรื่องโรคแพ้ตึกเสียหน่อยโรคแพ้ตึก!ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ นพ.จามร เงินชารี แผนกตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์“โรคแพ้ตึก หรือ Sick Building Syndrome เป็นอาการของคนที่ทำงานบนตึกสูง เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงคราม ขณะนั้นเศรษฐกิจตกสะเก็ด อาคาร หรือโรงงานต่างๆ ทรุดโทรม ระบบระบายอากาศไม่ได้ซ่อมบำรุง ทำให้ผู้คนเกิดเป็น โรคนี้อย่างแพร่หลาย ถึงปัจจุบันอัตราการ เคลมเงินประกันจากโรคแพ้ตึกในสหรัฐ สูงขึ้นต่อเนื่อง และล่าสุดเกิน 0.5% ของการเคลมประกันสุขภาพทั้งหมด
องค์การอนามัยโลกได้ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า อาการแพ้ตึกเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่มักต้องใช้ชีวิตบนตึกสูง โดยอาการแพ้ ประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการดังนี้
1.กลุ่มอาการทางสายตา ผู้ป่วยมีอาการแสบเคืองตา น้ำตาไหล ล้าตา รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา
2.กลุ่มอาการเกี่ยวกับระบบหายใจส่วนบน เช่น ไอแห้งๆ แสบคอ แสบจมูก คันจมูก หายใจไม่โล่ง หอบหืดภูมิแพ้กำเริบ
3.กลุ่มอาการทางผิวหนัง พบผื่นคัน หรือคันคะเยอไม่ทราบสาเหตุอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นๆ หายๆ
หรือบางรายเป็นมากถึงขนาดหมดเรี่ยวแรง ตอนเช้ามาทำงานเอามือผลักบานประตูเดินเข้าออฟฟิศปุ๊บ อาการจะค่อยๆ เริ่มมา ต่อเมื่อตกเย็นกลับบ้าน ไปแล้ว อาการหายเป็นปลิดทิ้ง อย่าสงสัย ในพฤติกรรมของตัวเอง บอกเจ้านายของท่านว่า ท่านอาจคือหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรค แพ้ตึก ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นกับหลายคนทำงานในหลายประเทศทั่วโลก
มลพิษในตึกสาเหตุของโรค มี 3 ประการ คือ
1.มลพิษในตึก ระบบระบายอากาศไม่ดีพอ
2.เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงานเป็นพิษ
3.เชื้อโรคที่ล่องลอยอยู่ในตึกการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นตึกเก่า ระบบแอร์เก่า หรือแม้ไม่เก่าแต่ไม่ดี เป็นมลภาวะสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดอาการ ออฟฟิศบางแห่งมีคนทำงานจำนวนมาก เมื่อระบบระบายอากาศทำงานได้ไม่ดี ก็ทำให้คนจำนวนมากนั้น ต้องหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไป เมื่อมากเข้าๆ ก็เกิดเป็นภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง นั่นหมายถึงคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน (เกิน 1000 พีพีเอ็มต่อ 1 ล้า&O5533;ส่วน)
“พวกนี้จะมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ เกิดเป็นภาวะคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพิษ มีอาการวิงๆ เวียนๆ คล้ายกับตอนอัดอยู่ในรถ ปอ.ที่แอร์เสีย” นพ.จามรเล่านอกจากนี้ พวกวัสดุที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หากเป็นผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ เช่น ไม้อัด ไฟเบอร์ ยาง-พรมสังเคราะห์ เศษไม้เศษพลาสติกอัดกาว หรือปาร์ติเคิลบอร์ด ทั้งสารและสีสังเคราะห์เมื่อใช้งานนานไปเกิดสภาพเป็นพิษได้
รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และโดยเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้เหล่านี้ปล่อยรังสีที่มีผล ต่อออกซิเจนในอากาศ มันเปลี่ยนออกซิเจนให้กลายเป็นโอโซน แล้วก็เราคนออฟฟิศ นี่แหละที่สูดรับเข้าไปเต็มๆสำหรับเชื้อโรคที่ล่องลอย มีเชื้อตัวหนึ่งร้ายกาจชื่อ Legionella ชอบอยู่ในห้องกึ่งเย็นของเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ในอาคาร บริษั&O5533;&O5533;ใหญ่ๆ บางแห่งเท่านั้น ที่จะเก็บ ตัวอย่างน้ำที่หอผึ่งเย็นบริเวณดาดฟ้าที่มี น้ำขังจากแอร์ตัวใหญ่ เก็บน้ำไปเพาะเชื้อ ทุก 2 เดือน
เพื่อเช็กว่าในระบบแอร์อาคาร มีเชื้อตัวนี้อาศัยอยู่หรือไม่ Legionella เป็นอันตรายมากต่อผู้มีภูมิต้านทานต่ำ
จะทำยังไงดีล่ะ
นพ.จามร กล่าวว่า ตึกเก่าต้องปรับปรุงสภาพ โดยต้องทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกร สถาปนิก ผู้ปรับปรุงอาคาร และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมต้องมีความเชี่ยวชาญการวัดสภาพอาคาร ทั้งสารเคมี แสง เสียง และความร้อนในอากาศส่วนเมื่อไหร่จะได้ฤกษ์ปรับปรุงสภาพอาคารเสียที ใช้เกณฑ์จากต่างประเทศว่า หากพนักงานมีอาการที่เข้าได้กับทั้ง 3 กลุ่มอาการข้างต้น ตั้งแต่ 20% ขึ้นไปก็ลุยได้เลย“ให้พนักงานที่อยู่ในตึกกรอกแบบสอบถาม หาก 20 คน ใน 100 คน มีอาการพร้อมกันทั้ง 3 กลุ่ม คือ คันผิวหนัง แสบระคายตา และเยื่อบุทางเดินหายใจมีปัญหา ก็ถึงเวลาปรับปรุงอาคารได้แล้ว” นพ.จามร กล่าว
ในกรณีที่เป็นพนักงาน ก็ให้สังเกตตัวเองว่า เรามีอาการประมาณนี้ไหม ถ้าเกิดร่วมกัน ทั้ง 3 อาการ ก็ตั้งสมมติฐานเพื่อระวังไว้ก่อน อย่าลืมสังเกตเพื่อนร่วมชะตากรรม...เอ๊ย...เพื่อนร่วมงาน หากมีอาการคล้ายๆ กัน ก็ใช่เลยมาทำงานทีไรก็มึนตึ้บ แต่จะไม่ไปทำงานก็ไม่ได้เสียด้วยสิ! ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ จะมามัวทำเป็นเลือกงานเลือกตึกก็ ไม่ได้เสียด้วย เอาเป็นว่าช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำออฟฟิศ (ของเรา) ให้ดีขึ้นกันดีกว่า เจ้านายแฮปปี้ เรา (ลูกน้อง) ก็แฮปปี้ด้วย
********************************ออฟฟิศในฝัน
1.ตึกเก่าต้องปรับโครงสร้าง จัดระบบหมุนเวียนอากาศให้เหมาะสม
2.ออฟฟิศบางแห่งไม่เคยเปิดประตูหน้าต่างเลย ควรเปิดบ้างในช่วงเช้าก่อนจะเปิดแอร์ หรือช่วงพักกลางวัน
3.ควรมีระบบการซ่อมแซมอาคารที่ดี เช่น ฝ้าเพดาน พรม หรือม่าน หากพบมีร่องรอยของเชื้อรา ต้องรีบเปลี่ยนทันที สปอร์เชื้อราทำให้เป็นผื่นระคายเคืองตา
4.สารเคมีทำความสะอาดห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง ควรเก็บในกระป๋องฝาปิด และเก็บในที่อากาศถ่ายเทสะดวก
5.สารเคมีล้างห้องน้ำ อ่างล้างมือ อ่างล้างจาน ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ
6.ควรจัดให้มีห้องหรือพื้นที่สำหรับการตั้งเครื่องถ่ายเอกสารโดยเฉพาะ
7.เครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีสนามพลังแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่โดยรอบ ซึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้มีอาการต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ วิตกกังวล เจ็บป่วยบ่อยๆ ดังนั้น จึงควรดึงปลั๊กออกเมื่อเลิกใช้งานหรืออาจใช้วิธีวางกระถางต้นไม้ไว้ใกล้ๆ เครื่องใช้สำนักงานดังกล่าว โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับรังสีอันตราย และลดพลังงานของสนามแม่เหล็ก ได้แก่ พลูด่าง แคกตัส จั๋ง เศรษฐีเรือนใน หมากเหลืองทอง สิบสองปันนา ประกายเงิน วาสนาอธิษฐาน เขียวหมื่นปี ดอกหน้าวัว เป็นต้น
8.ควรเลือกสี วัสดุที่ใช้ปูพื้น ผ้าม่าน หรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีน้อย
9.จัดให้มีพื้นที่หรือมุมสำหรับผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ
10.พนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสำนักงาน ต้องลดการใช้ หรือการสัมผัสสาร เช่น น้ำยาลบคำผิด สารเรืองแสง ฯลฯ รวมทั้งลดการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร
ที่มา
วาไรตี้โพสทูเดย์