เสือกับหน้ากากมนุษย์
เสือกับหน้ากากมนุษย์
อินเดียเป็นแหล่งที่มีเสือชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในแต่ละปี จำนวนคนถูกเสือกัดตายค่อนข้างสูงชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งศึกษาพฤติกรรมของเสือกินคนอย่างถ่องแท้ และพบว่าเสือจะไม่จู่โจมมนุษย์จากข้างหน้า พวกเขาจึงทำหน้ากากใบหน้ามนุษย์คาดไว้ที่หลังศีรษะ ดูเผินๆ ด้านหลังเหมือนกับด้านหน้า
แรกๆ กลยุทธ์นี้ใช้ได้ผล คนที่สวมหน้ากากใบหน้ามนุษย์หลังศีรษะรอดจากการถูกเสืบขบ
แต่ไม่นานเสือก็รู้แกว และจู่โจมคนโดยไม่เลือกด้านหน้าด้านหลัง!
สิ่งมีชีวิตในโลกล้วนมีคุณสมบัติ 'เรียนรู้แล้วหลาบจำ' แบบนี้
กาที่ต้องลูกธนูสักครั้งมักระแวงภัยในลักษณะเดิม สัตว์ที่เคยติดขวากมักไม่เดินซ้ำรอยเก่า
เชื้อโรคที่รอดตายจากยาชุดหนึ่งจะสร้างเกราะป้องกันยาตัวนั้น กลายพันธุ์เป็นเชื้อโรคที่แข็งแรงขึ้น
นี่ก็คือวิวัฒนาการของชีวิต การเรียนรู้ความผิดพลาดทำให้มีโอกาสอยู่รอดในโลกสูงขึ้น
ในสังคมมนุษย์ การเรียนรู้บทเรียนในอดีตเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมแข็งแรงขึ้น
และทำให้อารยธรรมของมนุษย์ก้าวไปไกลเร็วขึ้น บทเรียนในอดีตเป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้
ความเลวร้ายทั้งหลายในโลกตอนนี้ล้วนเคยเกิดขึ้นมาก่อน
เรามีสมองใหญ่กว่าเสือ เรามีคุณสมบัติที่แยกแยะออกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควร แต่หลายคนก็ไม่ทำ!
เรารู้ดีว่า ทุกครั้งที่เกิดสงครามฆ่าล้างกัน วิทยาการที่สะสมต่อกันมาก็อาจสูญหายไปกับคนที่ตายไป บางวิทยาการก็สาบสูญ ต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่
แต่ดูเหมือนเราต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่หลายครั้งเรื่อยมา
ความผิดพลาดครั้งแรกมักมาจากความไม่รู้ ความผิดพลาดครั้งต่อๆ มามักมาจากความเขลา ความโลภ ความเกลียด
ตลอดชีวิตของแต่ละคนย่อมพบพานความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า
ความแตกต่างระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลวอยู่ที่มุมมองหรือทัศนคติต่อความผิดพลาดนั้นๆ
" คนมีปัญญาใช้ความผิดพลาดให้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับก้าวต่อไป คนเขลาใช้มันเป็นเชื้อเพลิงเผาตัวเอง "
วินทร์ เลียววาริณ
28 พฤศจิกายน 2552