คุณรู้จัก สิทธิสตรี แค่ไหน??
เผยยังพบมีการละเมิดสิทธิสตรีกันอยู่ เหตุเพราะความเคยชิน และไม่ทราบถึงสิทธิที่ตนพึงมี
หากพูดถึง “สิทธิสตรี” หลายคนคงนึกถึงคำว่า “ความเสมอภาคเท่าเทียม” กัน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนนั้นจะเข้าใจความหมายของมันอย่างถ่องแท้ ว่าสิทธิสตรีคืออะไร เป็นอย่างไร ได้แต่คาดเดาทำความเข้าใจกันขึ้นมาเองด้วยกันแทบทั้งสิ้น จนทำให้ทุกวันนี้สังคมไทยยังมีการละเมิดสิทธิสตรีกันอยู่มาก อาจเป็นเพราะสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หล่อหลอมให้คนส่วนใหญ่เกิดความเคยชินกับสิ่งที่พบเห็นตั้งแต่เล็กจนโต จนเป็นเรื่องปกติ และอีกเหตุผลสำคัญที่ คือ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้าง???
ดังนั้นการที่จะยกระดับสตรีไทยให้เท่าเทียมกับผู้ชายในปัจจุบันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้หญิงต้องรู้จัก “สิทธิสตรีไทย” ว่าจริง ๆ แล้วหมายถึงอะไร? อันที่จริงแล้ว!! สตรีก็มีสิทธิความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างจากบุรุษ มีสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เริ่มตั้งแต่สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ โดยที่ไม่มีใครจะมีอำนาจเหนือมาทำลายชีวิตเราได้ สิทธิบนเนื้อตัวเราเอง สิทธิในการพูด สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการรับบริการจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล และอื่นๆ โดยต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตว่าจะไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งนั่นจึงเรียกว่า “สิทธิสตรี” อย่างแท้จริง
โดยที่ผ่านมาสตรีไทยหลายคนออกมาเรียกร้องขอสิทธิของตนเองกันมากมาย หากย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 14 มิถุนายน 2543 สิทธิแรกที่มีการเรียกร้อง คือ การขอสิทธิ์ให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย และก็เป็นผลสำเร็จ จนทำให้ประเทศไทยต้องลงนามเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ อาทิ เช่น ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง สามารถร่วมวางนโยบายของรัฐ รับตำแหน่งราชการ และปฏิบัติหน้าที่ราชการ อีกทั้งยังเป็นผู้แทนรัฐบาลในระดับระหว่างประเทศ และเข้าร่วมในงานขององค์กรระหว่างประเทศได้ สามารถทำสัญญาและจัดการทรัพย์สินในกระบวนการศาลได้ และสามารถเลือกคู่สมรส หย่า การเป็นบิดา มารดา การตัดสินใจมีบุตร ดูแลบุตร รวมถึงการเลือกใช้นามสกุลได้ โดยมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 53 ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงไทยก็ได้รับการยอมรับด้านความเท่าเทียมด้านความสามารถทางสังคมมากขึ้น นั่นคือสิทธิหนึ่งที่ผู้หญิงควรรู้ไว้...
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหนึ่งสิทธิที่ผู้หญิงต้องรู้!! นั่นคือ สิทธิคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปัจจุบันจากค่านิยมผิดๆ ที่มองว่าผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอ ภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ ผู้ชายเป็นใหญ่ เรื่องในครอบครัวกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ผู้หญิงส่วนมากมักถูกทำร้าย ถูกกระทำความรุนแรง และที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง คือผู้ที่กระทำนั่นมักกลายเป็นคนใกล้ชิด อย่างพ่อ แม่ หรือสามี ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องสิทธิ ปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรง ด้วยการให้มี พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 คลอดออกมาเพื่อคุ้มครองคนในครอบครัว ซึ่งระบุไว้ว่าผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรง โดยมุ่งให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพ แก่บุคคลในครอบครัว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ได้แต่หวังไว้ว่าการผลักดันให้เกิดกฎหมายตัวนี้จะส่งผลให้ความรุนแรงในครอบครัวลดลงได้บ้างไม่มากก็น้อย
และสิทธิสุดท้ายที่ผู้หญิงควรรู้ เพื่อประโยชน์ของตนเอง คือ สิทธิการเลือกให้คำนำหน้านาม ซึ่งเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นี่เอง โดยให้หญิงที่ “แต่งงาน” แล้วหรือ “หย่าร้าง” นั้น สามารถเลือกให้คำนำหน้านามว่า นาง หรือ นางสาว ก็ได้ โดยสามารถทำได้ง่ายเพียง ไปยื่นคำร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ที่สำนักงานเขต ณ ภูมิลำเนาเดิมของผู้ร้อง พร้อมทั้งนำหลักฐาน ทะเบียนสมรส สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน และหากมีหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) เช่น ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล ก็ให้นำไปด้วย เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าได้แล้ว
เมื่อทราบถึงสิทธิของตนเองแล้ว!! ผู้หญิงไทยทุกระดับก็ควรจะรักษาสิทธิของตนเองเอาไว้ เพราะการได้มาในแต่ละสิทธินั้น ผู้หญิงต้องต่อสู้ มิใช่เป็นเรื่องที่ใครจะหยิบยื่นให้ใครได้จงร่วมกันไขว่คว้าให้ได้มา ซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมกันในสังคมต่อไป
thaihealth.or.th
และ
ผู้หญิงนะคะ