♣ ความลับแห่งนครวาติกัน : นครรัฐแห่งคริสตจักร ♣
สำหรับวาติกันหรือชื่อเต็มๆ ว่า "นครรัฐวาติกัน" จัดได้ว่าเป็น ประเทศเอกราช หรือรัฐอิสระที่เล็กที่สุดในโลก โดยมีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ ในนครแห่งนี้ตามแผนผังประกอบไปด้วย วังวาติกัน, วังกัสเตลกันดอลโฟ (castelgendolfo) อันเป็นที่ประทับ ที่อยู่นอกชานกรุงโรมไปทางทิศใต้, มหาวิทยาลัยเกรโกเรียน (Gregorian University) และโบสถ์ 13 แห่งในกรุงโรม เฉพาะวังวาติกันมีเนื้อที่ 150 ไร่ ซึ่งรวมวิหารเซนต์ปีเตอร์ พิพิธภัณฑ์วาติกัน หอสมุดวาติกัน และที่ประทับขององค์พระสันตะปาปาด้วย
ภายในบริเวณดังกล่าวยังมีอุทยานวาติกันอันงดงาม มีสถานีวิทยุของวาติกัน มีที่ทำการไปรษณีย์วาติกัน สถานีรถไฟวาติกัน ธนาคารวาติกัน และร้านค้าปลอดภาษีทุกชนิด มีคุก มีสำนักพิมพ์ของตนเอง เช่น มีหนังสือพิมพ์ชื่อ โลสเสอร์วาโตเร โรมาโน
ส่วนพลเมืองของวาติกันที่มีเชื้อชาติวาติกันนั้นไม่มีในโลก มีแต่พลเมืองสัญชาติวาติกัน นครแห่งนี้มีพลเมืองประมาณ 900 คน เกือบ 200 คนเป็นสตรี มีทหารสวิสราว 100 คน ถือหอกโบราณเป็นอาวุธประดับเกียรติ ซึ่งเป็นองครักษ์พระสันตะปาปา ทหารสวิสนี้มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1506 การแต่งกายของทหารสวิส มีเครื่องแบบที่ออกแบบโดย มิเกลันเจโล (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อไมเคิล แองเจโล) แถมทุกคนต้องเป็นชาวสวิสและเป็นคาทอลิก ทหารสวิสจะผลัดเปลี่ยนประจำการในชั่วระยะเวลาหนึ่ง
นอกจากนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นทูตวาติกันประจำอยู่ในประเทศต่างๆ พลเมืองในนครแห่งนี้จะมีสัญชาติวาติกันเฉพาะในขณะที่ ดำรงตำแหน่งหรือเป็นภรรยาของพลเมืองวาติกัน หรือเป็นลูกที่มีอายุไม่เกิน 25 ปีเท่านั้น
เรื่องราวที่ว่าเหตุใดที่แห่งนี้เป็นที่พำนักขององค์สันตะปาปานั้น เห็นทีจะต้องฉายภาพย้อนอดีตไปไกลสมัยยุโรปกลาง ในสมัยนี้คริสต์ศาสนามีอำนาจล้นฟ้าเหนือกษัตริย์ทุกพระองค์ในยุโรป องค์สันตะปาปาจึงจัดได้ว่าเป็นบุคคลมากล้นด้วยบารมี ซึ่งการได้มาของอำนาจนั้น เกิดจากศรัทธาอันแรงกล้าของผู้คนชาวยุโรปที่มีต่อประมุขทางศาสนาของพวกเขา จนทำให้องค์ สันตะปาปาสามารถครอบครองดินแดนตอนกลางของอิตาลี ไว้ทั้งหมดรวมเรียกว่า ปาปาสเตท และมีศูนย์ กลางการปกครองอยู่ที่ วาติกัน กลางกรุงโรม
การที่พระสันตะปาปาในสมัยแรกๆ ทรงมีอำนาจทางโลกล้นฟ้า และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองมากเกินไป กลุ่มอำนาจรัฐในยุโรปหลายแห่งจึงเริ่มที่จะเล่นเกมต่อต้านพระองค์เพื่อลิดรอนอำนาจลง จนทำให้เขตการปกครองอย่าง ปาปาสเตทหดหายไป และในปี ค.ศ. 1860 ก็เหลือ อยู่แค่รอบๆ กรุงโรมเท่านั้น
ต่อมาเมื่อ พระเจ้าวิคเตอร์ เอมานูเอล ที่ 2 ได้ปกครองอิตาลี มีการลงคะแนนเสียงประชามติว่า สมควรให้กรุงโรมเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี หรือเป็นปาปาสเตทของวาติกันต่อไป ผลออกมาปรากฏว่า ประชาชนเทคะแนนให้โรมเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี ทำให้องค์สันตะปาปา ปิอุสที่ 4 ซึ่งเป็นประมุขศาสนาในขณะนั้นไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงทรงประกาศตัดขาดกับโลกภายนอก ประทับอยู่ภายในนครรัฐวาติกันเพียงอย่างเดียว สันตะปาปาองค์ต่อๆ มาจึงยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก และรัฐบาลอิตาลี
จวบจนในปี ค.ศ. 1929 ได้มีการทำสนธิสัญญา ลาเตรัน (Lateran Treaty) ในสมัยมุสโสลินี ผู้นำอิตาลีกับวาติกันให้การรับรองและ คํ้าประกันอธิปไตยของนครรัฐวาติกัน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกสบายอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้นครแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะรัฐอิสระ เหมาะสมที่จะให้สันตะปาปาปฏิบัติภารกิจ ในฐานะองค์ประมุขของ ชาวคาทอลิกทั่วโลกได้ เหตุที่เรียกสนธิสัญญาลาเตรัน เพราะมีการเซ็นกันที่พระราชวังลาเตรัน
บทบาทขององค์สันตะปาปา จึงได้เปิดกว้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และนครแห่งนี้กลายมาเป็นที่มีผู้คนจากทั่วโลก พากันไปเยือนไม่ตํ่ากว่าปีละ 10 ล้านคน
โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม มหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง วิหารเซนต์ปีเตอร์ จัดได้ว่ามีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลมายลโฉมกัน แต่เดิมนั้น จักรพรรดิคอนสแตนติน ได้สร้างบาสิลิก้า หรือศาลาประชาคมไว้ตรงนี้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ฝังศพของ นักบุญปีเตอร์ ที่ถูกทหารโรมันจับตรึงกางเขน โดยพระองค์ได้ก่อสร้างเอาไว้ในปี ค.ศ. 330
หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1506 สมัยสันตะปาปา จูเลียสที่ 2 พระองค์ได้ตัดสินพระทัยรื้อของเก่าและสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์ขึ้นมา ซึ่งกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ใช้เวลาสร้างนานถึง 150 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญปีเตอร์ และแสดงความยิ่งใหญ่ของคริสตจักร ตลอดจนเป็นศูนย์กลางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
งานก่อสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์นั้นอยู่ภายใต้การบริหารงานของสันตะปาปาถึง 20 องค์ ใช้เงินทอง ในการก่อสร้างวิหารหลังนี้ราว 300 ล้านเหรียญ กว่าจะสำเร็จได้
ประตูเข้าทางด้านหน้าวิหารแห่งนี้มี 5 ประตู แต่ที่เปิดให้คนเข้าออกอยู่ประจำมี 4 ประตู ประตูขวาสุดเป็นประตูศักดิ์สิทธิ์เชื่อกันว่าใครได้เดินผ่านประตูนี้ เข้าวิหารไปจะสามารถไถ่บาปได้ แต่เดิมเคยเปิด 100 ปีต่อครั้ง โดยองค์สันตะปาปาทรงเปิดเอง ต่อมาได้มีการเปิดให้น้อยลงหน่อยเป็น 50 ปีต่อครั้ง แล้วลดเหลือ 25 ปีต่อครั้ง
และอยากขอบันทึกเอาไว้ว่า วิหารเซนต์ปีเตอร์นี้เริ่มต้นจาก การวางผังโดย บรามันเต (Bramante) ต่อด้วย ราฟาเอล (Raphael) และก็ บัลดาสซาร์เร เปรุซซิ (Baldassarre Peruzzi) ส่งต่อให้ อันโตนีโอ ดาซังกัลโล (Antonio Dasangallo) จนถึงมิเกลันเจโล ซึ่งเป็นคนออกแบบหลังคาโดม อันถือว่ายิ่งใหญ่ คาร์โล มาแดร์โน (Carlo Maderno) มาแก้แปลนให้สมบูรณ์ขึ้น จาน ลอเรนโซ แบร์นีนิ (Gian Lorenzo Bernini) ออกแบบลานหน้าล้อมด้วยศาลา รูปวงกลมผ่ากลาง ตั้งเสาโอเบลิสค์ของอียิปต์ ตรงศูนย์กลางลานโดย ฟอนตานา (Fontana) อ่างนํ้าพุด้านขวาโดย มาแดร์โน อ่างนํ้าพุด้านซ้ายโดย แบร์นีนิ
และศิลปกรรมที่นับว่าเยี่ยมยอดที่สุด แห่งวาติกัน ก็น่าจะได้แก่จิตรกรรมลํ้าค่าบนเพดาน โบสถ์ซิสติน (Sistine Chapel) ซึ่งเป็นโบสถ์ทําศาสนกิจสําหรับ สันตะปาปาเป็นส่วนพระองค์ จิตรกรรมนี้เป็นฝีมือของมิเกลันเจโล ซึ่งมีทั้งภาพ “การพิพากษาสุดท้าย (Last Judgement)” และ “กำเนิดของอดัม (Creation of Adam)” อันลือลั่น