เราสร้างวาสนา แล้ววาสนาก็สร้างเรา
ถ้าใจของเราเกิดอย่างนี้บ่อยๆ จิตก็จะคุ้นเป็นนิสัย คือคนเรานี้อยู่ด้วยความเคยชินเป็นส่วนใหญ่ เราไม่ค่อยรู่ตัวหรอกว่า ที่เราอยู่กันนี้เราทำอะไร ๆ ไปตามความเคยชิน ไม่ว่าจะพูดกับใคร จะเดินอย่างไรเวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราจะตอบสนองอย่างไร ฯลฯ
เรามักจะทำตามความเคยชิน ทีนี้ก่อนจะมีความเคยชินก็ต้องมีการสั่งสมขึ้นมา คือทำบ่อยๆ บ่อยจนทำได้โดยไม่รู้ตัว แต่ทีนี้ท่านเตือนว่าถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้มันจะเคยชินแบบไม่แน่นอนว่าจะร้ายหรือจะดี และเราก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง
ท่านก็เลยบอกว่าให้มีเจตนาตั้งใจสร้างความเคยชินที่ดี ความเคยชินที่เกิดขึ้นนี้ท่านเรียกว่า "วาสนา" ซึ่งเป็นความหมายที่แท้และดั้งเดิม ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทยที่เพี้ยนไป วาสนา ก็คือความเคยชิน ตั้งแต่ของจิตใจ ตลอดจนการแสดงออกที่กลายเป็นลักษณะประจำตัว
ใครมีความเคยชินอย่างไร ก็เป็นวาสนาของคนนั้นอย่างนั้น และเขาก็จะทำอะไรๆ ไปตามวาสนาของเขา หรือวาสนาก็จะพาให้เขาไปทำอย่างนั้นๆ เวลาพบเห็นอะไร ใครสั่งสมจิตใจชอบมาทางไหน ก็ไปทางนั้น
เช่น มีของเลือก ๒-๓ อย่าง คนไหนชอบสิ่งไหนก็จะหันหาแต่สิ่งนั้น แม้แต่ไปตลาดไปร้านค้า ไปที่นั่นมีร้านค้าหลายอย่าง อาจจะเป็นห้างสรรพสินค้า เดินไปด้วยกัน คนหนึ่งชอบหนังสือก็ไปร้านหนังสือ อีกคนหนึ่งเข้าไปร้านขายของเครื่องใช้ เครื่องครัว เป็นต้น แต่อีกคนหนึ่งเข้าไปร้านขายของฟุ่มเฟือย
อย่างนี้แหละเรียกว่าวาสนาพาให้ไป คือใครสั่งสมมาอย่างไรก็ไปตามนั้น และวาสนานี้แหละเป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตของเราผันแปรไปตามมัน พระท่านมองวาสนาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น วาสนาจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่รู้ตัว
ท่านก็เลยบอกว่าให้เรามาตั้งใจสร้างวาสนาให้ดี เพราะวาสนานั้นสร้างได้ คนไทยเราชอบพูดว่าวาสนานี้แข่งกันไม่ได้ แต่พระบอกว่าให้แก้วาสนา ให้เราปรับปรุงวาสนา เพราะมันอยู่ที่ตัวเรา ที่สร้างมันขึ้นมา
แต่การแก้ไขอาจจะอยากสักหน่อย เพราะความเคยชินนี้แก้ยากมาก แต่แก้ได้ปรับปรุงได้ ถ้าเราทำ ก็จะมีผลดีต่อชีวิตอย่างมากมาย ขอให้จำไว้เป็นคติประจำใจเลยว่า
สนับสนุนข้อคิดนานาสาระโดย:
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)