เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง
มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งสำหรับการแสดงมหรสพทุกชนิดนั่นคือ จะต้องพร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการยืนตรงต่อบทเพลงสรรเสริญพระบารมี เฉกเช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ ก่อนที่หนังจะฉาย
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบมาก่อนว่า ช่วงระยะเวลาของการยืนสงบนิ่งต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา เพียงแค่นาทีกว่า ๆ นี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย
คุณโดม สุขวงศ์ จาก หอภาพยนตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย น่าจะมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มมีการตั้งโรงภาพยนตร์แล้ว โดยเฉพาะโรงหนังญี่ปุ่นหลวง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกในสยาม และเป็นโรงแรกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราแผ่นดิน
ธรรมเนียมนี้อาจได้แบบอย่างมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมืองสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในปกครองของอังกฤษ มีการฉายพระบรมรูปพระราชินีอังกฤษและบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี คือเพลง “God Save the Queen ; ก็อด เซฟ เดอะ ควีน” เมื่อจบรายการฉายภาพยนตร์ ให้ผู้ชมยืนถวายความเคารพ
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสชวา เมื่อ พ.ศ. 2439 มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บรรจบกัน 2 ประการ คือ ได้ทอดพระเนตรประดิษฐกรรมผลิตภาพยนตร์ที่พระตำหนักเฮอริเคนเฮาส์ เมืองสิงคโปร์ และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญจักรพรรดิมาลาแก่ผู้แต่งทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีถวาย ชื่อ มิสเตอร์ ยี.เอช. แวนสัชเตเลน ที่เมืองดยกชาการ (อ่านว่า ดะ-ยก-ชา-การตา) หรือจาร์การตาในปัจจุบัน
เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้ มิสเตอร์ เฮวุดเซน ครูแตรทหารมหาดเล็ก แต่งทำนองเพลงคำนับรับเสด็จอย่างเพลง God Save the Queen โดยพระราชทานทำนองเพลงที่นายแวนสัชเตเลนแต่งให้ นายเฮวุดเซนได้นำทำนองเพลงนั้นมาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นใหม่จนเป็นต้นเค้าของทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้อยู่ โดยบทที่บรรเลงในปัจจุบัน สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์คำร้อง ส่วนทำนองประพันธ์โดย นายปโยตร์ สซูโรฟสกี้ ชาวรัสเซีย
ต่อมา ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงแก้คำในวรรคสุดท้าย จาก “ดุจจะถวายชัย ฉะนี้” เป็น “ดุจจะถวายชัย ไชโย” และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2456
เพลงสรรเสริญพระบารมีนี้เอง ที่ภายหลังเมื่อมีภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนังเงียบ ซึ่งจะต้องมีแตรวงหรือวงเครื่องสายผสมทำการบรรเลงดนตรีประกอบการฉาย วงดนตรีดังกล่าวจึงได้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความเคารพเมื่อภาพยนตร์ฉายจบ โดยในช่วงแรก ๆ เป็นการบรรเลงแต่เพียงอย่างเดียว ต่อมาจึงมีผู้ผลิตกระจกที่เป็นพระบรมรูปของพระเจ้าแผ่นดิน หรือ แลนเทิร์น สไลด์ (Lantern Slide) โดยทำการฉายกระจกพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินขึ้นบนจอด้วย และถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมทั่วทุกโรงภาพยนตร์ในสยาม โดยมิได้มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด แต่ในที่สุดก็มีระเบียบออกมาบังคับใช้ เมื่อ พ.ศ. 2478 พอเข้าสู่ยุคภาพยนตร์เสียงในฟิล์มแล้ว โรงภาพยนตร์ทุกโรงก็ยังคงฉายสไลด์พระบรมรูปและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี
ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นการฉายสไลด์พระบรมฉายาลักษณ์และเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการฉายภาพยนตร์ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นการจัดทำเป็นภาพยนตร์พระราชกรณียกิจฉายประกอบเพลง และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงรูปแบบการนำเสนอก็มีความแตกต่างกันไปอีกด้วย
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการฉายสไลด์พระบรมรูปพร้อมกับเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีในขณะนั้นว่า มีเจ้าของโรงภาพยนตร์บางแห่งไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ โดยนำสไลด์กระจกรูปของบุคคลอื่น เช่น ผู้นำชาติอื่น ๆ หรือผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ มาฉายพร้อมกับเปิดเพลงและมีถ้อยคำปลุกใจให้ผู้ชม ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติและไม่สมควรอย่างยิ่ง จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาตรวจสอบโรงภาพยนตร์อยู่เนือง ๆ
นอกจากนี้ ยังเคยมีบุคคลบางคนได้เสนอแนะให้ยกเลิกการฉายภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ โดยให้เหตุผลว่า มีโรงภาพยนตร์บางแห่งได้ฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะหนังที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร หรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่เรื่องดังกล่าวก็หายไปเพราะไม่มีใครเห็นด้วย ปัจจุบันถือว่า การฉายภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี ถือเป็นระเบียบที่ทางโรงภาพยนตร์จะต้องถือปฏิบัติ และได้กลายเป็น “จารีต” ที่ผู้ประกอบการล้วนแล้วแต่ทำด้วยความจงรักภักดีกันทั้งสิ้น
สำหรับการผลิตฟิล์มภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี จะต้องทำหนังสือส่งไปที่สำนักพระราชวังเพื่อขอใช้พระบรมฉายาลักษณ์ต่าง ๆ หรืออาจจะขอคัดพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น และเมื่อดำเนินการผลิตเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องนำมาผ่านตรวจจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจภาพยนตร์แต่อย่างใด
จากการสำรวจ พบว่า ฟิล์มภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี มีผู้ผลิตอยู่ 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสำหรับโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์กลางแปลง
ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ ทั้งในโรงและภาพยนตร์กลางแปลง โดยว่าจ้างให้ทางแล็บดำเนินการจัดทำขึ้นมา โดยมีรูปแบบการนำเสนอให้เป็นไปตามที่ผู้จ้างต้องการ โดยจะดำเนินการแบบครบวงจร ทั้งในการล้างและพิมพ์ฟิล์มเป็นชุดสำเร็จตามจำนวนที่ต้องการ ผู้ประกอบการที่จัดจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ ส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านหลังโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง มาตั้งแต่อดีต จวบจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2536 บริเวณดังกล่าวได้มีการปรับปรุงเพื่อสร้าง ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า ทำให้ผู้ประกอบการได้ย้ายไปอยู่อาคารบำเพ็ญบุญ ซึ่งอยู่ถนนเจริญกรุง ซอย 3 ด้านข้างของโรงภาพยนตร์นั่นเอง หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อโรงภาพยนตร์แบบซีนีเพล็กซ์เข้ามามีบทบาท ทำให้ระบบการจัดจำหน่ายที่เรียกว่า “สายหนัง” เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต่างพากันแยกย้ายหรือยุติกิจการเพื่อไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ที่ยังเหลืออยู่ก็ยังคงดำเนินกิจการเหมือนเดิม แต่ไม่เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
จากการสอบถามข้อมูล รวมไปถึงผลงานที่เป็นฟิล์มภาพยนตร์ในกลุ่มดังกล่าว ข้อมูลที่ได้มานั้นล้วนกระจัดกระจาย เนื่องจากผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ได้ยุติกิจการไปโดยปริยาย บางส่วนก็บริจาคอุปกรณ์ให้กับหอภาพยนตร์แห่งชาติไปแล้ว ส่วนฟิล์มต้นฉบับนั้นก็ยังอยู่ที่แล็บ และไม่ได้จัดพิมพ์ออกมาอีกเลย
สำหรับผู้ผลิตฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมี ชุดแรกนั้น เป็นของร้านเป็ดทอง ครับ ผลิตขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2523 คาดว่าน่าจะเป็นช่วงที่โรง "ภาพยนต์ทหานบก" จ. ลพบุรี ได้เปลี่ยนแปลงจากการเล่นเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมฉายสไลด์กระจกในตอนจบของภาพยนตร์ มาเป็นก่อนฉายภาพยนตร์เรื่องยาว โดยจะฉายในตอนท้ายของหนังตัวอย่าง ซึ่งเริ่มเป็นแห่งแรก ก่อนที่โรงอื่นทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดจะนำไปเป็นแบบอย่าง ในตอนนั้นเป็นการนำเสนอภาพแบบสองภาพ พร้อมเทคนิคการเปลี่ยนภาพแบบซ้อนภาพหรือดิสโซลฟ์ (Dissolve) ซึ่งฉากหลังเป็นสีออกโทนน้ำตาลหรือที่เรียกว่า “ซีเปีย” โดยเป็นภาพที่มีทั่วไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์จนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์ สำหรับขั้นตอนการผลิตในชุดนี้ไม่ได้ใช้เทคนิคซับซ้อนมาก เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่ทันสมัยเหมือนตอนนี้
หลังจากนั้นก็มีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต่างก็ว่าจ้างให้ทางแล็บดำเนินการ ซึ่งการวางจำหน่ายนั้นไม่ได้เป็นการผูกขาดแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของเจ้าของโรงภาพยนตร์ หรือภาพยนตร์กลางแปลง กล่าวคือ ชอบแบบไหนก็เลือกซื้อตามที่ต้องการ และนี่เองที่ทำให้ฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมี ได้มีการผลิตออกมาหลายแบบ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2537 และนี่คือส่วนหนึ่งที่มีข้อมูล
2. กลุ่มผู้ผลิตสื่อโฆษณา
กลุ่มเหล่านี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นยุคแรกของการนำเอาระบบเสียงดอลบี้ สเตอริโอ ดิจิตอล (DOLBY STEREO DIGITAL) เข้ามาในโรงภาพยนตร์ รวมทั้งการถือกำเนิดของโรงภาพยนตร์แบบซีนีเพล็กซ์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2537 ทำให้ผู้ผลิตโฆษณา (Commercial Agency) ทางสื่อต่าง ๆ ได้มีการว่าจ้างจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์กลางแปลงในยุคแรก ๆ รวมไปถึงโรงภาพยนตร์ หรือจากหน่วยงานอื่น ๆ ให้ผลิตฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นมาเพื่อจำหน่ายทั่วไปทั้งในโรงภาพยนตร์หรือภาพยนตร์กลางแปลง หรือจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อใช้ในโรงภาพยนตร์ในเครือของตน โดยผู้สร้างสรรค์ได้นำรูปแบบวิธีการนำเสนอผ่านคอมพิวเตอร์กราฟฟิคมาใช้ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ แม้แต่ตัวเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการขับร้อง รวมทั้งดนตรี โดยไม่ทำให้เสียรูปแบบไปจากเดิม
ฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่มีการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ก็คือ ชุด “ใบโพธิ์” ซึ่ง คุณณัฐวัชร อุดมพาณิชย์ แห่งบริษัท โกลเด้น ดั๊ก ฟิล์ม จำกัด และ หม่อมยุพเยาว์ คันธาภัสระ จาก บริษัท แมสโค จำกัด ร่วมกัน โดยมีแนวคิดว่า ในหลวงเปรียบเสมือนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนชาวไทย รูปแบบการนำเสนอเป็นรูปต้นโพธิ์แล้วก็เจาะไปในใบโพธิ์แต่ละใบพร้อมกับนำเสนอพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านว่า ทรงเหนื่อยเพื่อพสกนิกรอย่างไร
ในช่วงนั้นวงดนตรี บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ได้จัดทำอัลบั้ม “เพลงแห่งชาติ” ออกมา (ประมาณปี พ.ศ. 2536) ทำให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับโรงภาพยนตร์เจ้าอื่น ได้จ้างให้บริษัทที่ผลิตโฆษณาจัดทำขึ้นมา
อีกบริษัทหนึ่ง ได้จัดทำฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมี ชุด จิ๊กซอว์ ขึ้นมา ราว ๆ ปี พ.ศ. 2540 เป็นการนำเสนอเพลงสรรเสริญพระบารมี แบบขับร้องประสานเสียงพร้อมด้วยวงออร์เคสตรา พร้อมภาพในหลวงขณะเสด็จไปสถานที่ต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นภาพจิ๊กซอว์มาต่อกัน จนกระทั่งเมื่อใกล้จะจบเพลงแล้วภาพจะค่อย ๆ เลื่อนมาเป็นจิ๊กซอว์รูปพระพักตร์ของในหลวง ซึ่งเรียบเรียงดนตรีโดย อาจารย์บรูซ แกสตัน ซึ่งโรงภาพยนตร์ที่ฉายได้แก่ สยาม , ลิโด้ , สกาล่า , เฮาส์ รวมทั้งโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัด และหนังกลางแปลง
ส่วนบริษัท โกลเด้น ดั๊ก ฟิล์ม จำกัด หลังจากที่ผลิตฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมี ชุด “ใบโพธิ์” แล้ว ก็ได้มีการผลิตฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมีออกมาในภายหลัง ซึ่งมี 3 ชุด ได้แก่ ชุด “จิตรกรไทย” ซึ่งใช้เทคนิคจากภาพวาดของจิตรกรเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานำเสนอ ขณะที่ตัวเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นได้มีการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้ในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และอีจีวี ในตอนนี้ ส่วนชุดต่อมา เป็นภาพกราฟฟิค ซึ่งมีเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมเนื้อเพลง อย่างไรก็ตาม ฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้ง 2 ชุดดังกล่าว ได้ใช้ฉายในโรงภาพยนตร์ไม่นานนักก็มีการเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง
สำหรับภาพประกอบนี้ คือชุด "จิตรกรไทย" เป็นการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคในการสร้างภาพขึ้นมาให้คล้ายกับภาพวาด โดยมีเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่เป็นเวอร์ชั่นเดียวกันกับที่ได้ชมในโรงภาพยนตร๋ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ในตอนนี้ แต่ตัวเพลงที่อยู่ในฟิล์มประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี ชุด "จิตรกรไทย" นี้ จะยาวกว่าที่ได้ยินในปัจจุบัน
สำหรับชุดล่าสุดที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็คือ ชุด “สายฝน” (สำหรับคนที่เคยชม เข้าใจว่าเป็นชื่อ “หยาดฝน” แต่ที่กล่องฟิล์มได้ระบุชื่อว่า “สายฝน” ครับ) ซึ่งนำเสนอภาพเริ่มจากพื้นดินแห้ง ๆ แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นรูปเล็ก ๆ ในหยาดฝนแต่ละเม็ดที่ตกลงมาก็คือภาพพระราชกรณียกิจของในหลวงที่ท่านไปดูแลในเรื่องชลประทาน เรื่องของการทำยังไงให้ป่าอุดมสมบูรณ์ให้มีน้ำมีฝน โดยมีมุมมองว่าในหลวงท่านทำงานเน้นในเรื่องการเกษตรกรรม พระองค์ท่านช่วยดูแลและพัฒนาจากความแห้งแล้งจนทำให้ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ในส่วนของเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น บรรเลงด้วยเสียงดนตรีไทยจากหลากหลายอุปกรณ์มารวมเข้าด้วยกัน จากการสร้างสรรค์ของ อาจารย์บรูซ แกสตัน สำหรับฟิล์มชุดนี้ยังมีการฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัด รวมทั้งหนังกลางแปลง
เมื่อโรงภาพยนตร์แบบซีนีเพล็กซ์ได้ขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ฟิล์มเพลงสรรเสริญ ฯ ที่เคยใช้ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของตนเองในช่วงทศวรรษของปี พ.ศ. 2540
* โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เคยใช้ชุด “ใบโพธิ์” ของ บริษัท โกลเด้น ดั๊ก ฟิล์ม จำกัด มาก่อน พร้อม ๆ โรงภาพยนตร์และหนังกลางแปลงทั่วไป ก่อนที่จะมีรูปแบบที่เป็นของตัวเองในภายหลัง ปัจจุบันได้นำเสนอไปแล้วประมาณ 4 ชุด
* โรงภาพยนตร์อีจีวี ก็เคยมีรูปแบบเป็นของตนเองเช่นกัน กระทั่งเมื่อเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน ฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงได้ใช้แบบเดียวกัน
* โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เคยใช้ชุด “สายฝน” มานาน ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของตนเองเช่นกัน ผลิตโดย ด็อกเตอร์ เฮด
* โรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่ มูฟวี่ พลาซ่า มีรูปแบบเฉพาะเป็นของตนเอง ในชุด "ดนตรีแจ๊ส" ทางโรงภาพยนตร์ได้มองเห็นพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงในการเป่าแซ็กโซโฟน ดังนั้นเพลงสรรเสริญ ฯ ชุดที่ใช้อยู่จึงเป็นชุดที่มีเสียงแจ๊สเป็นดนตรีหลัก และไม่มีเสียงร้อง การนำเสนอจะเป็นกรอบรูปที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบันขึ้นมาทีละภาพ และหนึ่งในรูปภาพเหล่านั้นมีภาพพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงเป่าแซ็กโซโฟนอยู่ด้วย สำหรับเสียงเป่าแซ็กโซโฟนเป็นเสียงของเศกพล อุ่นสำราญ หรือโก้ มิสเตอร์แซ็กแมน เรียบเรียงดนตรีโดย ปราชญ์ มิวสิค
เนื่องจากฟิล์มเพลงสรรเสริญ ฯ เป็นฟิล์มที่ใช้งานบ่อยที่สุด โดยจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อ เกิดความเสียหายเกินกว่าที่จะฉายได้อีกต่อไป ส่วนที่เป็นรูปแบบเฉพาะของโรงซีนีเพล็กซ์ จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหายบนแทรคที่เป็นดอลบี้ ดิจิตอล (Dolby Digital Soundtrack) ซึ่งจะได้ยินออกมาอย่างชัดเจนเวลาฉาย เพราะฉะนั้น จึงได้มีการสั่งพิมพ์จากแล็บเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ก็แล้วแต่นโยบายของทางโรงภาพยนตร์เอง
ข้อมูลทั้งหมดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่นำมารวบรวมได้ในปัจจุบัน ขณะที่การติดตามค้นหาข้อมูล รวมทั้งตัวฟิล์มเดิม (ถ้ายังหลงเหลืออยู่) เป็นสิ่งที่ผมต้องยอมรับว่า “ยาก และเหนื่อย” เพราะเท่าที่รู้มาคร่าว ๆ ฟิล์มเหล่านี้จึงมักถูกเก็บงำไว้เฉย ๆ ซึ่งจะอยู่กับโรงภาพยนตร์หรือเจ้าของหนังกลางแปลง บางทีก็ตกทอดไปยังลูกหลาน ซึ่งบางแห่งอาจจะสานต่อหรือเลิกกิจการไปแล้ว บางทีก็เก็บลืม ถูกปล่อยปละละเลย สุดท้ายก็กลายเป็นขยะ แต่ถึงอย่างไรก็พยายามกันต่อไป
ช่วงระหว่างที่ผมติดตามอยู่นั้น ทำให้ได้พบฟิล์มเหล่านี้ที่ยังเหลืออยู่ บางชุดเป็นการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ บางชุดเป็นฟิล์มที่เคยใช้งานมาแล้ว หลายครั้งก็ต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายในราคาสูง และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจอในม้วนหนังตัวอย่างโดยบังเอิญ ซึ่งผมก็นำมาทำความสะอาด ซ่อมแซม ลองฉาย และเก็บอนุรักษ์ไว้ เพื่อนำมาถ่ายทอดกันต่อไปครับ
ที่มา:
1. ฟิล์มภาพยนตร์ของตนเอง
2. ภาพจากเว็บthaicine และ lovecinema.pantown
3. ข้อมูลประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี thaifilm
ขอบคุณบทความจาก pantown