อิโมติคอน สัญลักษณ์อารมณ์แห่งโลกยุคดิจิตอล
เมื่อ 27 ปีที่แล้ว ":-)" ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกคอมพิวเตอร์ จากการสร้างสรรค์ของ "ศ.สก็อต อี. ฟาห์ลแมน" อาจารย์จาก "คาร์เนกี เมลลอน ยูนิเวอร์ซิตี้"
"สไมลี่เฟซ" เกิดขึ้นเมื่อเวลา 11.44 น. ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2525 เป็นสัญลักษณ์แสดงสีหน้าที่กำลังมีความสุขของศ.ฟาห์ลแมน ขณะส่งข้อความไปยังบุลเลทินบอร์ด โดยขณะนั้น อาจารย์กำลังคุยถึงข้อจำกัดถึงเรื่องตลกที่ส่งกันในคอมพิวเตอร์
นักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า "อีโมชีคอน หรือ อีโมติคอน" หรือสัญลักษณ์แสดงอารมณ์ เกิดจากคำ 2 คำคือ "Emotion" และ "Icon" อย่างอีโมติคอน "สไมลี่เฟซ" ทำให้ผู้ส่งสารแสดงอารมณ์ที่รู้สึกขณะนั้นให้ผู้รับสารรับทราบ มิฉะนั้น ผู้รับสารอาจจะไม่เข้าใจอารมณ์ในข้อความนั้น
"อีโมติคอน" นั้น ที่จริงแล้วต้องอ่านว่า "อีโมชีคอน" แต่เนื่องจากการอ่านแบบผิดๆ ได้แพร่ไปทั่วโลก ทำให้คำว่า "อีโมติคอน" ได้รับความนิยมมากกว่า
สำหรับประโยคที่ศ.ฟาห์ลแมนใช้ "สไมลี่เฟซ" เป็นครั้งแรกมีว่า "ผมขอเสนอตัวอักษรต่อไปนี้เพื่อเป็นเครื่องหมายขำขัน แบบนี้นะครับ :-) กรุณาอ่านเอียงข้างนะครับ"
"สไมลี่เฟซ" เริ่มต้นใช้ระหว่างอาจารย์ที่คาร์เนกีเมลลอน จากนั้นจึงลามไปที่มหาวิทยาลัยอื่น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน "อีโมติคอน" เพิ่มจาก 1 ตัว เป็นหลายร้อยตัว แสดงอารมณ์ต่างๆ นานา เช่น อาย โกรธ ไม่พอใจ ขำก๊าก เบื่อหน่าย
"เอมี่ ไวน์เบิร์ก" นักภาษาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จาก "ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แมรี่แลนด์" มีความเห็นว่า "อีโมติคอน" อย่าง "สไมลี่เฟซ" ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่นักวิชาการ ธุรกิจ และผู้ที่สื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ มีความหมายถึงการเย้าแหย่กันเล่นๆ เช่นประโยคที่ว่า "ฉันรักเจ้านาย" จะเป็นประโยคที่แตกต่างกับ "ฉันรักเจ้านาย :-)" ทันที เพราะประโยคหลังหมายถึง ล้อเล่น อย่าไปคิดเป็นจริงเป็นจัง ไม่เหมือนกับประโยคแรก ที่ไม่ทราบว่า ผู้ส่งข้อความคิดอย่างไรกันแน่
ด้าน ศ.คลิฟฟอร์ด แนส อาจารย์ด้านการสื่อสาร จาก "สแตนฟอร์ด ยูนิเวอร์ซิตี้" กล่าวว่า ตามปกติแล้ว โทนเสียงจะแสดงถึงอารมณ์ของผู้พูด แต่เมื่ออ่านข้อความในคอมพิวเตอร์ เราจะไม่ได้ระบบเสียงของผู้ส่งสาร ทำให้ยากที่จะคาดเดาอารมณ์ การใส่ "อีโมติคอน" จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เรารับทราบอารมณ์ที่แท้จริงของข้อความนั้นๆ
จากข่าวสด